top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 16 เม.ย. 2566 ”หลวงปู่สาย ปภาโส” วัดบางรักใหญ่ นนทบุรี

"ย้อนรอยเกจิดัง"

ประจำวันอาทิตย์ที่ 16 เม.ย. 2566

เกจิอภิญญา/วาจาสิทธิ์./สังขารไม่เน่าเปื่อย!

”หลวงปู่สาย ปภาโส” วัดบางรักใหญ่ นนทบุรี

เจ้าตำรับ”สมเด็จกระดาษสา”สูตรวัดระฆัง

"ย้อนรอยเกจิ"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ

หนึ่งในเกจิอาจารย์”สายเหนียว”ที่ขึ้นชื่อลือชาอีกองค์ของจังหวัดนนทบุรี ย่อมต้องมีนามของ”หลวงปู่สาย ปภาโส” หรือ พระครูนนทการประสิทธิ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดองค์ที่ 8 วัดบางรักใหญ่ ต.บางรักใหญ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นศิษย์พุทธาคมสายตรงของ หลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง,หลวงปู่เหรียญ วัดบางระโหง,หลวงพ่อชุ่ม วัดหญ้าไทร ฯ

ท่านเป็นชาวนนทบุรีแต่กำเนิดเกิดเมื่อ พ.ศ. 2444 ปีฉลู บิดาชื่อ “เที่ยง” มารดาชื่อ”แจ่ม” เข้าบวชเป็นพระภิกษุเมื่อปี พ.ศ.2468 ที่วัดบางรักใหญ่ มีหลวงพ่อชุ่ม วัดประชารังสรรค์(วัดหญ้าไทร) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อแหล่ม วัดประชารังสรรค์(วัดหญ้าไทร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อพรหม เจ้าอาวาสวัดบางรักใหญ่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า”ปภาโส”

ท่านได้ศึกษาพระธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นตรี ,นักธรรมโท และนักธรรมเอก หลังจากนั้นได้ไปเรียนกรรมฐานกับครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายรูป อาทิ หลวงพ่อม้วน วัดไทรม้าเหนือ เรียนวิชาอาคมขลังทางลงเลขยันต์ปลุกเสกเครื่องรางของขลังต่าง ๆ ท่านศึกษาอยู่กับหลวงปู่ชุ่มได้ความรู้ทางด้านวิชาแล้ว ยังได้ความรู้อื่นๆอีกมากมาย รวมทั้งการปฏิบัติ ต่อมาได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงปู่ชื่น เกสโร เจ้าอาวาสวัดสะแก บางใหญ่ เล่าเรียนทางด้านแพทย์แผนโบราณ วิชาทางคงกระพันชาตรี ทางน้ำมนต์ ทางรักษาโรคต่างๆ แล้วจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดบางรักใหญ่เพื่ออบรมสั่งสอนพระ-เณร

ท่านเป็นพระปฏิบัติดี มีเมตตาสูง มีวาจาสิทธิ์ มีเมตตารักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่ญาติโยมที่เจ็บป่วยเป็นประจำ ขณะเดียวกันบรรดาศิษยานุศิษย์ได้ขอเมตตาให้ท่านทำเครื่องรางของขลัง เพื่อใช้ติดตัวเมื่อต้องเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ พระปิดตา หรือยันต์ชายธง โดยผู้บูชาได้รับประสบการณ์ต่างๆทั้งด้านมหอุด คงกระพันชาตรี แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุ หรืออันตรายต่างๆจนเป็นที่กล่าวขานกันมาก ทำให้วัดบางรักใหญ่มีผู้มาทำบุญไม่ขาดสาย มีปัจจัยพัฒนาเสนาสนะต่างๆจนวัดเจริญรุ่งเรือง

หลวงปู่สายเริ่มสร้างพระเครื่อง และเครื่อง รางของขลังครั้งเเรกในปี พ.ศ. 2484 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ้ายันต์ชายธงท่านสร้างไว้ 2 ยุค ยุคแรกๆท่านเริ่มทำตั้งแต่ปีพ.ศ. 2485 จะเขียนด้วยดินสอ ส่วนยุคที่สองเริ่มทำตั้งแต่ปีพ.ศ. 2500 จะเขียนด้วยปากกา ท่านทำไว้ 3 ขนาดคือ ขนาดใหญ่ให้ติดเสาบ้าน ขนาดกลาง และขนาดเล็กไว้พกติดตัว ส่วนใหญ่จะเขียนด้วยมือ โดยใช้จีวรที่ท่านครอง พอถึงช่วงเข้าพรรษา ท่านจะเปลี่ยนจีวรชุดใหม่แล้วใช้ชุดเก่ามาทำเป็นยันต์ชายธง โดยยันต์ที่ท่านไช้จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ แถวแรกเป็นยันต์ นะโมพุทธายะ เด่นทางด้านคงกระพันชาตรี มหาอุตม์ แคล้วคลาด แถวสอง เป็นยันต์นะลือชา เมตตามหานิยม โชคลาภ

พระสมเด็จสร้างครั้งแรก ประมาณปี พ.ศ.2484-2500 มีด้วยกัน 2 พิมพ์คือ พิมพ์เข่าตรง และพิมพ์เข่าโค้ง โดยท่านใช้หลักการสร้างแบบเดียวกับวัดระฆัง หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) มวลสารของท่านมีการผสมสมเด็จวัดระฆัง,บางขุนพรหม และมวลสารของท่านเอง เช่น ผงแป้งพุทธคุณ กระดาษสาลงยันต์ และอักขระต่างๆ ผงปูนตามเสมาเก่า ผนังวิหารและโบสถ์เก่าชำรุด เนื้อสมเด็จของท่านจึงมีเอกลักษณ์ออกยุ่ยไม่เหมือนของพระเกจิองค์อื่น เรียกขานกันว่า “พระสมเด็จเนื้อผงกระดาษสา”

พระคาถาที่ท่านใช้เป็นตำราเดียวกันกับวัดระฆังฯ เรื่องพุทธคุณแทบไม่ต้องพูดถึง เชื่อกันว่าใช้แทนพระสมเด็จวัดระฆังได้เลย!

สมเด็จพิมพ์เข่าตรงเป็นพิมพ์ที่จัดสร้างขึ้นมาก่อน แล้วมีการแต่งแม่พิมพ์ในภายหลังทำให้เกิด สมเด็จพิมพ์เข่าโค้ง ตามขึ้นมา ซึ่งสมเด็จพิมพ์เข่าโค้งมีจำนวนการสร้างไม่มากนัก จึงเป็นพิมพ์ที่หายากและนิยมกว่าสมเด็จพิมพ์เข่าตรง นอกจากนี้ยังมี สมเด็จพิมพ์ใบโพธิ์ เนื้อผงใบลาน สีดำ, เนื้อผงพุทธคุณ สีขาว,พระผงพิมพ์นางพญา เนื้อผงใบลาน สีดำ และเนื้อผงพุทธคุณ สีขาว ซึ่งสร้างพร้อมกับพระสมเด็จกระดาษสา

เหรียญุรูปเหมือนรุ่นแรก หรือเหรียญหลังเรียบสร้างประมาณปีพ.ศ.2508-2512 และสร้างแค่เนื้อเดียวเท่านั้นคือเนื้อฝาบาตร แต่แยกเป็น 2 พิมพ์คือ พิมพ์เล็ก (แจกแม่ครัว) และพิมพ์ใหญ่ มีเนื้อกะไหล่เงิน กะไหล่ทอง และบุทองคำ (สร้างน้อยมาก)

เหรียญสรงน้ำ ปีพ.ศ.2512 เป็นเหรียญยอดนิยมของบรรดาลูกศิษย์อีกหนึ่งรุ่น จำนวนการสร้างนั้นไม่ชัดเจน มีด้วยกัน 2 พิมพ์คือ

1.พิมพ์นิยม เสี้ยนขวาง (ยันต์ตรง) จุดสังเกตความแตกต่างการแยกบล็อกนิยมคือ ด้านหลังเหรียญ บริเวณพื้นผิวเหรียญจะมีเส้นเสี้ยนวิ่งขวางตามแนวนอนของเหรียญทั่วทั้งพื้นผิว สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าโดยไม่ต้องส่องกล้อง และอีกหนึ่งจุดคือ ตัวยันต์อุณาโลม ปลายจะเป็นเส้นตรง เป็นที่มาของคำว่า “บล็อกยันต์ตรง”

2. พิมพ์ธรรมดา (ยันต์คด) จุดสังเกตความแตกต่างการแยกบล็อกธรรมดาคือ ด้านหลังเหรียญ บริเวณพื้นผิวเหรียญจะไม่มีเส้นที่พื้นผิวเหรียญ และตัวยันต์อุณาโลมปลายยันต์จะเอียงออกเล็กน้อยไปทางด้านขวามือ เป็นที่มาของคำว่า บล็อกยันต์คด และอีกหนึ่งจุดคือ รูเจาะหูเหรียญจะเล็กกว่าพิมพ์นิยม

เหรียญสรงน้ำมีประสบการณ์ในท้องที่เป็นอย่างมาก จึงเป็นที่เสาะแสวงหาของบรรดาลูกศิษย์ ทำให้มีของปลอม ของเก๊ออกมาเรื่อยๆ และพัฒนาฝีมือแบบใกล้เคียงของจริงอย่างมาก การเช่าหาจึงต้องศึกษาจากผู้รู้สายตรงให้ดี

พระปิดตาเริ่มสร้างครั้งแรกในปี พ.ศ.2527 ลักษณะพิมพ์พระเป็นแบบลอยองค์ คล้ายพระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง แต่องค์ย่อมกว่าและไม่มีตะเข็บข้าง เป็นเนื้อผงแล้วนำมาชุบรัก แต่ชุบค่อนข้างบางทำให้หลุดร่อนไปตามกาลเวลา จึงเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของปิดตารุ่นแรก มวลสารหลักนั้นท่านนำผงเก่าสมเด็จ ผงแป้งพุทธคุณ ว่าน108,เกสร108 ,ไม้มงคล108 ที่ขาดไม่ได้คือ ผงธูปไหว้พระ ข้าวสุกก้นบาตร และอื่นๆอีกหลายอย่าง

รูปหล่อรุ่นแรกสร้างในปี 2524 จำนวน 1,300 องค์ ตอกโค้ดมีเพียง 300 องค์เท่านั้น โดยหลวงปู่สายได้รวบรวมโลหะต่างๆ ภายในวัดที่หาได้เช่น ฝาบาตรเก่า เศษทองเหลือง ทองแดง ระฆังเก่า รวมทั้งชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาได้รวบรวมโลหะต่างๆ เช่น ขันเงิน ขันนาค ขันทองเหลือง และเครื่องประดับที่เป็นเงิน ทอง นาค ต่างๆมาถวายเพิ่มเติมจนสามารถจัดสร้างรูปหล่อในครั้งนี้ได้ รูปหล่อรุ่นนี้จึงพบเนื้อได้หลายวรรณะ และบางองค์มีจารใต้ฐาน บางองค์ก็ไม่มี

พระบูชารุ่นแรก สร้างประมาณปี 2512 (คอตรง) ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว 2. พระบูชารุ่นสอง สร้างประมาณปี 2524 (ฐานเหลี่ยม) ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว รันเบอร์ทุกองค์ 3.พระบูชารุ่นสาม สร้างปี 2525 ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว รันเบอร์ทุกองค์ 4. พระบูชารุ่นสี่ สร้างปี 2528 (ฉลองอายุ84 ปี)ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว 5. พระบูชาหน้ารถ สร้างปี 2528 ขนาดหน้าตัก 2 นิ้ว

ประเภทเครื่องรางก็มี ตะกรุด แหวน แหนบ รูปถ่าย,ล็อกเก็ต วัตถุมงคลของท่านเป็นที่ต้องการของลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนในพื้นที่มีประสบการณ์กันมากมาย ทำให้ปัจจุบันวัตถุมงคลหลวงพ่อสายเริ่มหายาก และมีราคาเพิ่มขึ้น

หลวงปู่สายเป็นพระสมถะ ไม่สะสม พูดไพเราะ และพูดเก่ง เป็นกันเอง ไม่ถือตัว ตลอดชีวิตท่านมีแต่ให้กับให้ ไม่สนใจเรื่องทรัพย์สินมีค่า ใครขออะไรก็ให้ทั้งนั้น เรียกว่าขอเป็นต้องได้ ถ้าไม่ขอท่านก็ไม่ให้ ช่วงปั้นปลายชีวิต ผู้คนที่ไปกราบมักจะได้ลาภกันเสมอๆ จนกระทั่งวาระสุดท้าย หลวงปู่สายมรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2530 สิริรวมอายุได้ 87 ปี พรรษา 58

ปรากฏว่าสังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย บรรจุในโลงแก้วให้กราบไหว้จนถึงปัจจุบันนี้ นับเป็นพระผู้ทรงอภิญญาอีกองค์หนึ่งของเมืองไทย

#ฉัตรสยาม



ดู 379 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page