top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

#ย้อนรอยเกจิดัง ประจำวันอาทิตย์ที่ 30 ต.ค. 2565 รำลึก12ปีมรณกาล"หลวงพ่ออุ้น"วัดตาลกง

#ย้อนรอยเกจิดัง

ประจำวันอาทิตย์ที่ 30 ต.ค. 2565

รำลึก12ปีมรณกาล"หลวงพ่ออุ้น"วัดตาลกง

เกจิดังเมืองเพชร-เจ้าตำรับ"สมเด็จเหม็น"

"หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม" หรือพระครูวินัยวัชรกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดตาลกง ต.มาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เป็นพระดีเกจิอาจารย์ดัง พระนักพัฒนา พระนักปฏิบัติที่มีชื่อเสียงองค์หนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี ท่านมรณภาพ เมื่อเวลา 06.09 น.วันที่ 31 ตุลาคม 2553 สิริอายุ ปี 7 เดือน 22 วัน พรรษา 74 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา12ปี แต่ความเบื่อมใสศรัทธาในบารมีของท่านยังำม่จางหายไปจากคสามทรงจำของลูกศิษย์ลูกหา

สังเขปประวัติวัดตาลกง ตั้งอยู่เลขที่ 53 หมู่ที่ 3 ตำบลมาบปลาเค้า อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี สังกัดวัดมหานิกาย เนื้อที่ 13 ไร่เศษ สันนิษฐานว่าวัดตาลกง เริ่มแรกเป็นสำนักสงฆ์ ชื่อ "สำนักสงฆ์ตาลโก่ง" ประมาณพ.ศ.2390 (150 ปีกว่า) ตามประวัติที่คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบ ๆ กันมา ณ บริเวณที่ตั้งสำนักสงฆ์ มีต้นตาลต้นหนึ่งลักษณะออกยอดอยู่ประมาณ 7 ยอด ลำต้นโก่ง เรียกกันว่า"ตาลโก่ง"

ครั้นต่อมาได้มีการพัฒนาปรับปรุงยกฐานะขึ้นเป็นวัดโดยสมบูรณ์ จากชื่อเดิมตาลโก่งที่เคยเรียกขานกันมาก ก็เน่อกลายมาเป็น "ตาลกง" ซึ่งเป็นชื่อ วัดตาลกง ในปัจจุบัน

     

วัดตาลกง  มีเจ้าอาวาสปกครองดูแลสืบทอดกันมาหลายรูป แต่ไม่ปรากฎหลักฐาน พ.ศ.ชัดเจนนัก สำหรับเจ้าอาวาสที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดีในอดีต คือหลวงพ่อตุ้ม มีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความสำคัญที่เล่ากันว่า ภายในอุโบสถวัดตาลกงหลังเดิมสันนิษฐานสร้างประมาณ พ.ศ.2415 มีผงพุทธคุณ เสน่ห์เมตตานิยมสูงบรรจุไว้ เป็นของหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ชลบุรี ในสมัยที่หลวงพ่อตุ้มเป็นเจ้าอาวาส

 เจ้าอาวาสอีกรูปหนึ่งคือ หลวงพ่อผิว (ผู้เป็นลุงของหลวงพ่ออุ้น) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านไสยศาสตร์เวทมนต์ คาถาอาคมรุ่นเดียวกับหลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง  ทั้งมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับหลวงปู่นาค วัดหัวหิน (พระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่คำ วัดหนองแก)  จนมาถึงยุคสมัยของหลวงพ่ออุ้น สุขกาโม ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดตาลกง พ.ศ. 2504 ท่านได้พัฒนาผลงาน ก่อสร้างเสนาสนะสงฆ์ตลอดถาวร วัตถุเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

หลวงพ่ออุ้น นามเดิม "อุ้น อินพรหม" ถือกำเนิดเมื่อวันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2459 เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน 8 คน ของโยมพ่อบุญ อินพรหม โยมแม่เล็ก อินพรหม ณ บ้านหนองหินถ่วง ต.มาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เริ่มการศึกษาเบื้องต้น หนังสือไทย ขอม ที่วัดไสค้าน จนกระทั่งจบการศึกษาภาคบังคับ แล้วมาช่วยเหลือบิดามารดาประกอบอาชีพในด้านเกษตรกรรม

เมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดตาลกง ตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2479 โดยมีพระอธิการชัน วัดมาบปลาเค้า เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการผิว วัดตาลกง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการขาว วัดอินจำปา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับสมณฉายาว่า "สุขกาโม" จากนั้นได้อยู่จำพรรษาที่วัดตาลกงศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อผิว และศึกษาข้อวัตรปฏิับัติเรื่อยมา

การศึกษาพุทธาคมของหลวงพ่ออุ้น เริ่มจากการอยู่ปรนนิบัติรับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อผิว วัดตาลกง ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญไสยศาสตร์เวทมนต์คาถาอาคม รุ่นราวคราวเดียว (สหธรรมิก) กับหลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง ทั้งยังเก่งทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน เมตตา อยู่ยงคงกระพัน ซึ่งใกล้ชิดกับ หลวงปู่นาค วัดหัวหิน ทั้งเคยเดินทางไปขอศึกษาวิชาความรู้จากหลวงปู่นาคอยู่เป็นประจำ

หลวงพ่อผิว ธมฺมสิริ เป็นพระเกจิทรงคุณวิเศษของเมืองเพชรบุรีในยุคนั้น แต่อุปนิสัยของท่านชอบอยู่อย่างสันโดษ เก็บตัวเงียบไม่ยอมเปิดเผยว่ามีดีนาน ๆ จะลง นะ ที่กระหม่อมให้ผู้ไปหาท่านสักครั้ง

ในพรรษาต่อมา หลวงพ่ออุ้นเดินทางไปกราบนมัสการ หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อเล่าเรียนฝึกปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน พุทธาคม โดยเรียนฝึกวิชากสิณจนชำนาญในกสิณ 10 รวมทั้งตำรับตำราการทำผงเมตตาชั้นสูงจากหลวงพ่อทองศุข ในการเรียนวิชาของหลวงพ่ออุ้นนั้น  ต้องเดินทางจากวัดตาลกงไปเรียนที่วัดโตนดหลวงครั้งหนึ่งจะต้องไปพักอยู่วัดโตนดหลวงถึง 15 วัน ไปกลับอย่างนี้อยู่เป็นประจำ  และยังออกปริวาสกรรมร่วมกับหลวงพ่อทองศุข ขึ้นเขาไปบำเพ็ญเพียรในป่าช้าก็บ่อยครั้ง

สำหรับวิชาที่โดดเด่นสำคัญสุดของหลวงพ่อทองศุข ยากนักที่ศิษย์ผู้ใดจะได้รับถ่ายทอดให้ คือวิชาทำผงพระจันทร์ครึ่งซีก วิชาผงพระจันทร์ครึ่งซีกเป็นอย่างไร ว่ากันว่าเป็นผงเมตตามหานิยมที่มีพุทธคุณอมตะล้ำลึกยิ่งกว่าผงอิทธิเจ และผงปถมังหลายเท่านัก จากวิชาผงพระจันทร์ครึ่งซีกนี้ หลวงพ่ออุ้นยังไม่ปรากฎว่าท่านนำออกมาทำผงเลย เพราะมีกฎสัจจะที่สำคัญมาก

นอกจากนั้นหลวงพ่อทองศุขยังได้สอนการทำผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงมหาราช และผงหน้าพระภักษ์ ซึ่งเป็นตำรับสุดยอดของพระผงวัดนก จังหวัดอ่างทอง ตำราผงหน้าพระภักษ์นี้ทราบว่าได้สูญหายไปจากวงการไสยศาสตร์เป็นเวลานานแล้ว หากมีอยุ่หรือตกเป็นมรดกแก่ผู้ใดก็น้อยเต็มทีที่จะรู้ได้

สำหรับวิชา "นะ ปัดตลอด"นั้น หลวงพ่ออุ้นได้รับการถ่ายทอดเช่นกัน วิชานี้จะสังเกตได้ถึงวัตถุมงคลของสำนักงานวัดโตนดหลวง มียันต์นะ ปัดตลอด และ นะ ปถมัง ปรากฎอย่างชัดเจน รวมทั้งวัตถุมงคลศิษย์สายหลวงพ่อทองศุขทุกรูป

ต่อมาหลวงพ่ออุ้นได้ไปกราบนมัสการพระอธิการชัน  วัดมาบปลาเค้า  ขอศึกษาเล่าเรียนวิชาไสยศาสตร์  ซึ่งพระอธิการชันท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาจากหลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว เป็นวิชาอยู่ยงคงกระพัน  และเสกลิงลม วิชาขับคุณไสยทำปรอท เล่นแร่แปรธาตุ เรียนวิชาจากหลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง  เรียนวิชาทำตะกรุด และปลัดตามตำรับหลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก

นอกจากนี้ ท่านยังเรียนวิชากับอาจารย์ที่เป็นฆราวาส อาทิ อาจารย์โม ซึ่งเป็นหมอสักชาวเพชรบุรี เรียนวิชาทำสีผึ้งมหาเมตตา วิชาลงเลขยันต์ ลงสมุนไพร ตำราสมุนไพรจากหมอฉ่ำหมอไสยศาสตร์ชาวอำเภอท่ายาง

เมื่อหลวงพ่ออุ้นเรียนวิชาไสยเวทต่างๆมาอย่างช่ำชองแล้ว  ก็ได้เคยนำเอาวิชาสักยันต์มาสักลงให้บรรดาศิษย์และชาวบ้าน  สักเสือผยองเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ และคนที่สักไปเหล่านั้นเป็นคนดังก็มาก  คนดีก็มี ภายหลังท่านมาพินิจพิจารณาถึงวิชาเหล่านี้ว่าไม่สมควรนำมาใช้ให้กับบุคคลต่าง ๆ เพราะบังเกิดมีทั้งดีและชั่วผิดและถูกไม่มีใครเป็นคนดีได้หมด  นับตั้งแต่วันนั้นท่านจึงหยุการสักและหันมาช่วยชาวบ้านด้านขับคุณไสย  ขับผี  ไล่วิญญาณพเนจร

หลวงพ่ออุ้นท่านมีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในไสยเวทพุทธาคม สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน มีญาณสมาบัติแก่กล้า มีวิชาทำวัตถุมงคล ทำผงอิทธิเจ ผงปัทมัง ผงมหาราช ผงหน้าพระภักษ์ ผงพระจันทร์ครึ่งซีก ผงยาเพชรจินดา ทำชินปรอท เล่นแร่แปรธาตุ สักยันต์ หุงสีผึ้ง ลงนะ บรรจุพลังเสือโคร่ง หนุมาน เสกลิงลม ขับคุณไสย ขับวิญญาณผีสิง วิชาเสกปลัดขิก ตามตำราหลวงพ่อโศก วัดปากคลอง เรียนรู้และปฏิบัติได้ผลสำเร็จสุดยอดวิชาไสยเวทต่าง ๆ เหมือนพระเกจิอาจารย์โบราณคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคอดีต เป็นเหตุปัจจัยทำให้วัตถุมงคลทั้งหมดของท่านได้มีพุทธคุณศักดิสิทธิ์ เข้มขลังหลายด้าน เช่นอยู่ยงคงกระพัน มหาอุด แคล้วคลาด เมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ และค้าขาย

วัตถุมงคลยอดนิยมของหลวงพ่ออุ้นที่สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกคือ"พระสมเด็จเหม็น" โดยเริ่มต้นการสร้างในปีพ.ศ.2495 และสิ้นสุดลงในปลายปีพ.ศ.2497 รวมเวลาถึง 3 ปี โดยหลวงพ่ออุ้นร่วมกับพระสงฆ์ภายในวัดตาลกงช่วยกัน ผงพุทธคุณที่นำมาผสมทำพระสมเด็จเหม็นในครั้งนั้น มีผงอิทธิเจหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ เป็นผงเก่าแก่ที่ได้มาทำไว้ในอุโบสถหลังเก่าของวัดตาลกง ตั้งแต่สมัยหลวงพ่อแก้วอยู่ที่วัดในปากทะเล ผสมกับผงพุทธคุณของหลวงพ่ออุ้น แล้วนำมาหมักผสมกับข้าวสุกจากปากบาตรและก้นบาตรของพระสงฆ์ที่ได้บิณฑบาตมา

การหมักนั้น ถ้าครั้งใดหมักทิ้งไว้หลายวันก็จะมีกลิ่นเหม็นมากและถ้าหมักไว้ชั่วข้ามคืนจะมีกลิ่นเหม็นน้อย จึงเป็นเหตุให้พระสมเด็จเหม็นมีกลิ่นเหม็นมากน้อยไม่เท่ากัน พระผงสมเด็จเหม็นสร้างประมาณ 84,000 องค์

เหรียญรูปไข่รุ่นแรกสร้างปีพ.ศ.2540 มี 4 เนื้อ ทองคำ เงิน นวะ และเนื้ออัลปาก้า  เป็นเหรียญที่มีพุทธคุณสูง มีประสบการณ์มากมายเป็นที่ยอมรับของวงการนักนิยมพระเครื่อง  เป็นเหรียญที่มีค่านิยมสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ ซึ่่งยังไม่เคยมีปรากฎการณ์เช่นนี้มาก่อน  และต่อมาได้มีการสร้างเหรียญอีกต่อเนื่อง หลายรุ่น จนถึงปีพ.ศ.2550 (รุ่นสุดท้าย)

ด้านวัตถุมงคลของท่านมากประสบการณ์ทั้งด้านเมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ คงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ปราบคุณไสย ได้ผลประจักษ์ชัด ท่านสร้างขึ้นเพื่อเน้นพุทธคุณ ด้านคุ้มครองป้องกันภัย

#ฉัตรสยาม




ดู 10 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Commenti


bottom of page