"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 4 มิ.ย. 2566 "หลวงพ่อโม ธมฺรกฺขิโต" วัดจันทนาราม
- อ.อนุชา ทรงศิริ
- 4 มิ.ย. 2566
- ยาว 2 นาที
"ย้อนรอยเกจิดัง"
ประจำวันอาทิตย์ที่ 4 มิ.ย. 2566
"หลวงพ่อโม ธมฺรกฺขิโต" วัดจันทนาราม
เทพเจ้าแห่งห้วยกรด/ศิษย์ปู่ศุข-พ่อเดิม
เจ้าตำรับสุดยอด"ตะกรุดโทน-มีดหมอ"
รูปถ่ายไม่ต้องเสกก็ขลัง-ปืนยิงไม่ออก!!
"ขุนพันธ์"เข้ากราบขอช่วยปราบเสืออ้วน
"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ
..."หลวงพ่อโม ธมฺรกฺขิโต" แห่งวัดจันทนาราม ต.ห้วยกรด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท พระเกจิคณาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองชัยนาท เจ้าของตะกรุดโทนอันโด่งดัง
นอกเหนือจากหลวงพ่อกวย ชุตินธโร วัดโฆสิตาราม อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ที่โด่งดัง สะท้านแผ่นดินแล้ว ในเมืองสรรคบุรีก็มีอีกเกจิอาจารย์ ที่รูปถ่ายตัวท่านก็เป็นแบบเดียวกับหลวงพ่อกวยคือ ไม่เสกก็ขลัง ปืนยิงไม่ออก ซึ่งก็คือ "หลวงพ่อโม"วัดจันทนารามนั่นเอง
ชาติภูมิหลวงพ่อโมเป็นชาวห้วยกรดโดยกำเนิด เกิดในสกุล "คงเจริญ" เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.2413 ณ บ้านบางยายอ้น ต.ห้วยกรด อายุ 8 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร และมีความสนใจศึกษาตำราโบราณ ท่อง 7 ตำนาน 12 ตำนาน ได้ตั้งแต่เป็นสามเณร และปรนนิบัติหลวงพ่อเถื่อน เจ้าอาวาสวัดใหม่บำเพ็ญบุญ ซึ่งเป็นยอดเกจิอาจารย์ในยุคนั้น ว่ากันว่า พรรษามากกว่าหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า
จนกระทั่งอายุครบ 20 ปี จึงอุปสมบท ณ วัดใหม่บำเพ็ญบุญ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านท่าน โดยมีหลวงพ่อเถื่อน วัดใหม่บำเพ็ญบุญ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อคง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อโต วัดวิหารทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า "ธมฺรกฺขิโต"
หลังอุปสมบทได้จำพรรษา ณ วัดใหม่บำเพ็ญบุญ ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ทั้งภาษาไทย และภาษาบาลี เรียนพระปริยัติธรรมเบื้องต้นได้ท่อง 7 ตำนาน 12 ตำนาน ได้เรียนภาษาขอม เรียนวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาคมกับหลวงพ่อม่วง หลวงพ่อเถื่อน และหลวงพ่อคง ที่วัดใหม่บำเพ็ญบุญ ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ในพื้นที่เช่นกัน
นอกจากศึกษาในสำนักวัดใหม่บำเพ็ญบุญแล้ว ท่านยังได้ศึกษาอาคมกับหลวงพ่อโต วัดวิหารทอง และด้วยความเฉลียวฉลาด มีความสนใจใคร่รู้ ในการศึกษาทางวิทยาคม ยาสมุนไพรและแพทย์แผนโบราณ หลวงพ่อคงจึงพาไปฝากกับอาจารย์ของท่านคือ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ เมื่อปีพ.ศ.2451
จากนั้น หลวงพ่อโมได้เป็นศิษย์ของหลวงปู่ศุข เรียนวิทยาคม ตำรายาสมุนไพรและตำราแพทย์แผนโบราณกับหลวงปู่ศุข เป็นเวลา 5 ปี จนกระทั่งในปีพ.ศ.2456 จึงได้เดินทางกลับวัดใหม่บำเพ็ญบุญ ในขณะนั้น หลวงพ่อเถื่อน เจ้าอาวาสวัดใหม่บำเพ็ญบุญ ได้มรณภาพลง หลวงพ่อคง เป็นเจ้าอาวาสแทน
พ.ศ.2457 ญาติพี่น้องของหลวงพ่อโม ได้ร่วมกันซื้อที่ดินติดวัดร้างเดิมรวมประมาณ 30 ไร่ เพื่อสร้างวัดขึ้นใหม่เพื่อต้องการอานิสงส์ ในการถวายที่ดิน ทั้งนี้ ชาวบ้านห้วยกรดให้ความศรัทธาในเรื่องความแก่กล้าทางคุณวิเศษและอาคมของท่าน จึงนิมนต์หลวงพ่อโมจากวัดใหม่บำเพ็ญบุญมาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดจันทนาราม
หลวงพ่อโมท่านชอบออกธุดงค์เป็นอย่างมาก ซึ่งแต่ละครั้งจะไปเป็นเวลานาน จนกระทั่งหลวงพ่อพบเศียรพระพุทธรูปที่มีความงดงามมาก ซึ่งไม่ทราบว่าพบที่ใด ท่านจึงจ้างช่างต่อเศียรพระเข้ากับองค์พระพุทธรูปเก่าดั้งเดิมที่วัดและอัญเชิญเทวดาปกปักรักษา ซึ่งก็คือ "หลวงพ่อหิน" ในปัจจุบันนั่นเอง
การออกธุดงค์แต่ละครั้งท่านจะไปเป็นเวลานาน และเคยออกธุดงค์จนไปพบหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ และได้ต่อวิชามีดหมอจากหลวงพ่อเดิม รวมถึงได้พบกับหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล และหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง ซึ่งหลวงพ่อโมท่านเก่งวิชามีดหมอเป็นอย่างมาก
อุปนิสัยหลวงพ่อโมเป็นพระสมถะ มักน้อย สันโดษ มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ภายหลังท่านได้รับตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ หากมีเวลาว่าง ท่านจะนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่เสมอ นั่งสมาธิ ทำวัตรเช้าตั้งแต่ตี 4 ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงให้ความเคารพนับถือท่านมาก และนำลูกหลานของตนมาให้ท่านได้บวชมากมาย
ในสมัยที่ขุนพันธรักษ์ราชเดช ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาทในปีพ.ศ.2489 ได้ปะทะปราบปรามเสือร้ายหลายคน เช่น เสือฝ้าย เสือย่อง เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสือดำ เสือไหว เสือมเหศวร หนึ่งในนั้นคือ "เสืออ้วน" เสือชื่อดังแถบบ้านห้วยกรด เป็นที่หมายหัวของทางการเคยสร้างวีรกรรมอุกอาจถึงขึ้นยกพวกบุกปล้นปืนปลัดอำเภอสรรคบุรีมาแล้ว และรอดจากคมกระสุนของเจ้าหน้าที่ไปได้ทุกครั้ง ฟันแทงก็ไม่เข้า ปืนยิงกระหน่ำไม่มีโดนตัว ด้วยมีของดีคาดติดเอวตลอดเวลาทั้งตื่นและหลับคือ”ตะกรุดโทน” หลวงพ่อโม วัดจันทนาราม
เมื่อรู้ว่า "เสืออ้วน" มีตะกรุดติดกายอยู่ดอกเดียว ขุนพันธ์จึงเดินทางไปกราบหลวงพ่อโมเพื่อขอคำแนะนำโดยท่านบอกว่าต้องถอดตะกรุดเสียก่อนจึงจะจับได้ ขุนพันธ์ จึงวางแผนปลดตะกรุดโทน เสืออ้วนเพื่อปราบให้ได้ ด้วยระยะเวลาล่วงเลยมาเป็นเดือนแล้ว สุดท้ายโอกาสจึงเป็นของทางการ หรือไม่ก็เป็นด้วยชะตาถึงคาดของเสืออ้วนเอง
ขณะล้อมจับกุมนั้น สายคาดตะกรุดโทนที่ทำมาจากเชือกควั่นนั้น เปื่อยจนยุ่ยด้วยการใช้งานมานานได้หลุดหล่นจากเอวเสืออ้วน ขณะต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ กระสุนจึงเจาะทะลุร่างเสืออ้วนแบบนับไม่ถ้วน เมื่อสิ้นเสียงปืน เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบร่างที่สิ้นลมหายใจไปแล้ว ไม่มีตะกรุดติดกายแต่อย่างใด ซึ่งตะกรุดนั้นตกอยู่ห่างออกไปอีกหลายวา
วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมที่สุดของ”หลวงพ่อโม ก็คือ “ตะกรุดโทน” มีทั้งเนื้อทองเหลืองฝาบาตร ทองเหลืองและทองแดง ในยุคแรกยังหาแผ่นโลหะได้ยาก ท่านจึงไปขอฝาบาตรพระตามวัดต่างๆ มาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วจารยันต์ในตาราง เท่าที่พบจะเป็นยันต์คาถาบารมี 10 ทัศ คือ “อิติปาระมิตาติงสา อิติสัพพัญญมาคะตา อิติโพธิมะนุปปัตโต อิติปิโสจะเตนะโม” ด้วยเหตุที่ใช้ฝาบาตรทำจึงเรียกว่า “ตะกรุดฝาบาตร”
ท่านให้เด็กวัดพกไว้ป้องกันตัว ขนาดยาวบ้าง สั้นบ้างแล้วแต่ฝาบาตร บ้างครั้งฝาแตกก็ได้ดอกสั้น ตะกรุดฝาบาตรหลวงพ่อโมเด็กวัดชอบมากเพราะเวลาแกล้งกันไล่ยิงด้วยหนังสติ๊ก ยิงอย่างไรก็ไม่ถูก
ต่อมาประมาณพ.ศ.2500 ก่อนสร้างโบสถ์ ท่านจึงให้ซื้อแผ่นทองแดงมาทำตะกรุด โดยให้ลูกศิษย์ กรรมการวัด ช่วยกันทำและจาร ซึ่งท่านจะดูทุกแผ่นที่จาร แผ่นไหนจารผิด อ่านไม่ได้ ท่านจะทิ้งให้ทำใหม่ เอกลักษณ์ของตะกรุดหลวงพ่อโมคือ มีความยาวประมาณ 7 นิ้ว ขลิบมุม และมีรูค่อนข้างใหญ่สำหรับร้อยเชือกที่ทำจากผ้าขาวลงยันต์ฟั่นตีเกลียว และยาวพอที่จะคาดเอว
นอกจากนี้ ท่านก็ได้สร้างมีดหมอคล้ายกับของหลวงพ่อเดิมที่ท่านได้ไปศึกษามา ลวดลายจะเป็นแบบนาคสมพงศ์ ผิดกับของหลวงพ่อเดิมตรงที่ปลายเศียรนาคนั้นจะไม่มียันต์ใบพัด ส่วนมากจะเป็นมีดเล่มใหญ่
มีดหลวงพ่อโม ในยุคเก่าด้ามไม้ฝักไม้ ตีโดยช่างที่ห้วยกรด ส่วนในยุคหลังได้สั่ง"ช่างฉิม พยุหะ" มาซึ่งลักษณะเป็นด้ามงา ฝักงา ขนาดต่างๆ และเศษงาที่เหลือ ท่านให้ช่างกลึงขนาดย่อมกว่าดินสอนิดนึงยาว 1 นิ้ว ถึงนิ้วกว่า ๆ มาทำตะกรุดมหาอุดงาช้าง และเลี่ยมนาคแต่เดิม ซึ่งรุ่นนี้สุดยอดมากโดยหลวงพ่อจะสอดตะกรุดขนาดเล็กเข้าไปอีก 1 ดอกพร้อมจารอักขระ
ช่วงที่วัตถุมงคลที่สั่งมาและทำเองเพื่อแจกให้คนที่มาช่วยทำบุญสร้างโบสถ์หมด ท่านก็แจกเฉพาะใบฎีกา และบอกคนมาทำบุญว่า "รูปกูใช้แทนวัตถุมงคลของกูได้ไม่ต้องกลัว" แล้วท่านก็หัวเราะ มีบางคนถามว่า หลวงพ่อรูปหลวงพ่อเสกหรือยัง ท่านก็บอก "รูปกูไม่ต้องเสกก็ขลัง รูปกูดีทั้งนั้น"
เหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อโม สร้างในปีพ.ศ.2497 โดย "พระศรีนวล"พระลูกวัด เพื่อนำเงินไปซื้อเครื่องปั่นไฟใช้ในวัด จำนวนสร้างประมาณ 2,000 เหรียญ นอกจากนี้ ยังมีรูปถ่ายขาวดำอัดกระจก ตะกรุดไม้รวกยอดด้วนพอกด้วยครั่ง สิงห์งาแกะ เหรียญรูปเหมือน รูปหล่อขนาดเล็ก รูปถ่ายเพชรกลับสีผึ้ง ผ้ายันต์ ฯลฯ วัตถุมงคลของหลวงพ่อโมมีประสบการณ์มากมายด้านแคล้วคลาด คงกระพัน ยิงฟันไม่เข้า คนเมืองสรรค์รู้ดีและหวงแหนกันมาก
เรื่องราวอภินิหารมีมากมายเกี่ยวกับวัตถุมงคลของหลวงพ่อ ทั้งชาวบ้านทำตะกรุดหลวงพ่อโมหาย และตอนเช้าพบอยู่ในนา ที่เผ่าตอซังแล้วไม่ไหม้เป็นวงขนาดสักฟุตนึง / หรือโจรลักควายที่พกตะกรุดหลวงพ่อโมวิ่งหนีฝ่าลูกปืน และเด็กที่ตกเขื่อนเจ้าพระยาแล้วไม่ตาย วัยรุ่นฟันกันด้วยมีดไม่เข้าคล้องเหรียญรุ่น"ตาเกี้ย"
หลวงพ่อโมละสังขารเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2502 เวลาประมาณ 4 ทุ่มเศษ ท่านได้บอกกรรมการวัดและลูกศิษย์ว่า พวกเอ็งไม่ต้องกลัวกูตายหรอก กูไปเที่ยวเดี๋ยวก็กลับ" จากนั้นจึงนั่งสมาธิและละสังขารไป กรรมการวัดจึงนำร่างหลวงพ่อใส่โลงไม้และฝังไว้ที่วัด หนึ่งปีถัดมาจึงจัดงานฌาปนกิจศพและเปิดโลงออกมา ปรากฎว่าร่างหลวงพ่อยังคงเหมือนพระภิกษุจำวัด ไม่มีการเน่าเปื่อยหรือเปลี่ยนรูปร่างแต่อย่างใด
ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในสมัยนั้นจะมีการต้มกระดูกและนำมาเผาเพื่อทำพิธี ชาวบ้านบางคนได้กินเนื้อหลวงพ่อและน้ำอาบศพด้วยความรักและเคารพหลวงพ่อ หลังจากนั้นปรากฏว่าคนเหล่านั้นไม่เคยเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุใด ๆ เลยจนกระทั่งแก่ตาย
#ฉัตรสยาม
Comentarios