"ย้อนรอยเกจิดัง"
ประจำวันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค. 2567
"หลวงพ่อนุ่ม ธัมมาราโม” วัดนางในฯ
ยอดเกจิแห่งเมืองวิเศษชัยชาญ อ่างทอง
ศิษย์เอกหลวงพ่ออ้น/เหรียญดี-เบี้ยแก้ดัง
"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ
"หลวงพ่อนุ่ม ธัมมาราโม” อดีตเจ้าอาวาสวัดนางในธัมมิการาม ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษ ชัยชาญ จ.อ่างทอง ยอดพระเกจิแห่งเมืองวิเศษชัยชาญ ศิษย์เอกหลวงพ่ออ้น วัดดอนบุปผาราม รุ่นเดียวกับหลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ ท่านเป็นพระนักพัฒนา และเป็นพระที่มีความรู้แตกฉานในพระธรรม ภาษาขอม บาลีสันสกฤต
ท่านเป็นสหธรรมิกรุ่นน้องของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ, หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา จ.สุพรรณบุรี และหลวงพ่อเข็ม วัดข่อย จ.อ่างทอง
พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านสามจุ่น ต.วังน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2426 อ่อนกว่าหลวงพ่อพัก วัดโบสถ์ 1 ปี โยมบิดาชื่อ"สอน" โยมมารดาชื่อ"แจ่ม" นามสกุล "ศรแก้วดารา" ช่วงอายุ 10 ขวบ ได้ศึกษาภาษาไทยและภาษาขอมกับพระอธิการพ่วง พระพี่ชายที่วัดสามจุ่น ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เมื่ออายุครบ 20 ปีจึงอุปสมบทที่วัดปลายนา ต.ปลายนา อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2446 โดยมีพระครูธรรมสารรักษา (อ้น) วัดดอนบุปผาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดดี วัดปู่เจ้า เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการช้าง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า"ธัมมาราโม”
หลังอุปสมบทได้อยู่จำพรรษาที่วัดสามจุ่น ศึกษาพระปริยัติธรรมจากพระอธิการพ่วง ส่วนด้านวิทยาคมต่างๆ รวมถึงการฝึกสมาธิ การฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่านเดินทางไปร่ำเรียนกับหลวงพ่ออ้น วัดดอนบุปผาราม จ.
โดยได้เป็นศิษย์ร่วมสำนักกับหลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่, หลวงพ่อสม วัดดอนบุปผาราม และจากฆราวาสอีกท่านหนึ่งชื่อว่า "อาจารย์เชตุ"
ถึงพรรษาที่ 8 ท่านได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหลวง ต.ศาลเจ้าโรงทอง เพื่อสะดวกในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ไปช่วยก่อสร้างอุโบสถวัดสามจุ่น ประชาชนในท้องที่นั้นเคารพศรัทธาเลื่อมใสช่วยสละปัจจัยในการก่อสร้างอุโบสถวัดสามจุ่นจนสำเร็จด้วยดี จากนั้นท่านได้กลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสามจุ่นตามเดิม
ปี พ.ศ. 2459 ท่านก็ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดหลวง อีก 10 ปี ต่อมาจึงย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนางในธัมมิการาม ปี พ.ศ. 2469 ซึ่งขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก ท่านจึงเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์วัดนางในฯจนเป็นวัดที่พร้อมด้วยเสนาสนะอันสวยงาม เจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้ ปีพ.ศ.2473 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลศาลเจ้าโรงทอง จากนั้นปี พ.ศ. 2477 ท่านได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ผลงานต่างๆ ของหลวงพ่อมีมากมายหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งในวัดนางในฯและนอกวัด
หลวงพ่อนุ่มปกครองวัดนางในฯเป็นเวลา 30 ปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2497 ท่านจึงมรณภาพ สิริอายุได้ 71 ปี พรรษาที่ 51
หลวงพ่อนุ่มท่านมีวิชาสำคัญวิชาหนึ่งเรียกว่า"มนต์พระสังข์" บริกรรมภาวนาเป็นเมตตามหาเสน่ห์ชั้นสูง ใช้เรียกทรัพย์สินเงินทองให้ไหลมาเทมา เรียกโชคลาภต่างๆ เมื่อวัดนางในฯจัดงานบุญประจำปี ท่านจะใช้มนต์พระสังข์เสกแป้งโรยรอบวัด ปรากฏว่าผู้คนหลั่งไหลมาเที่ยวงานแทบเหยียบกันตาย เป็นที่เลื่องลือไปทั่วทั้ง อ.วิเศษไชยชาญว่าไม่มีวัดใดจัดงานได้ยิ่งใหญ่เท่าวัดนางในฯ
คนอ่างทองมีความเคารพศรัทธาหลวงพ่อนุ่มอย่างมาก ดูจากงานประจำปีในช่วงเทศกาลตรุษจีน มีประชาชนทั่วไปและคนอ่างทองไปร่วมงานนับหมื่นคนแน่นขนัดทุกปี สมัยที่ท่านยังมีชีวิตถือว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ดังจริงๆ ยิ่งคนวิเศษชัยชาญ ตำนานขุนรองปลัดชู ล้วนแต่มีวิชาอาคม คงกระพันชาตรี ต่างเคารพศรัทธาเหรียญหลวงพ่อนุ่ม
“น้ำปานะ” ที่หลวงพ่อนุ่มดื่มในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2469-2497 เครื่องดื่มน้ำสีดำ ที่ท่านเรียกว่า “โคโล–โคโล่” ที่จริงก็คือ “โคคา–โคล่า” หรือ “โค้ก” ในปัจจุบัน นับแต่นั้นมาญาติโยมที่มีความนับถือและศรัทธาในหลวงพ่อนุ่ม เมื่อขอพรได้ตามที่ประสงค์ ก็จะนำมาถวายให้กับท่าน
หลังท่านมรณภาพลงมีการสร้างรูปหล่อประดิษฐานไว้ที่ศาลาการเปรียญ โดยเมื่อได้บนบานอธิษฐานเรื่องต่างๆ และสำเร็จ จะนำน้ำอัดลมมาแก้บน ทำให้เมื่อไปกราบไหว้จะเห็นว่ามีน้ำอัดลมตั้งไว้จำนวนมาก โดยทางวัดได้นำน้ำอัดลมไปร่วมกิจกรรมสงฆ์ และแจกจ่ายเด็กๆ ตามโรงเรียนและตามเทศกาลต่างๆ เป็นประจำ
ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้ให้แก่ศิษย์หลายอย่าง เช่น เหรียญปั้ม เหรียญหล่อ พระเนื้อผง พระเนื้อดินเผา และเบี้ยแก้ เป็นต้น วัตถุมงคลทุกชนิดของหลวงพ่อนุ่มล้วนแล้วแต่เป็นที่นิยมเสาะหา และหวงแหนของชาววิเศษชัยชาญ
เหรียญปั้มหลวงพ่อนุ่มรุ่นแรกสร้างในปี พ.ศ. 2492 ท่านได้บรรจุวิชาอาคมทำให้เกิดพลังพุทธานุภาพ สร้างประสบการณ์ บวกคลื่นกระแสกำลังศรัทธา ทำให้บรรดาลูกศิษย์หลายคนต้องผิดหวัง หาบูชาไม่ได้ จึงร้องขอให้ท่านสร้างขึ้นมาอีก เหรียญรุ่นนี้จึงมีอยู่ด้วยกัน 3 บล็อก ด้านหน้าพิบล็อดเดียวกัน สาวยด้านหลังแบ่งเป็นบล็อกยันต์ใหญ่ บล็อกยันต์กลาง และบล็อกยันต์เล็ก ซึ่งให้สังเกตที่ตัว"ยันต์อุ" ระยะห่างจากยันต์ห้าที่มีขนาดแตกต่างกัน โดยความนิยมจึงให้แก่บล็อกแรก หรือเรียกว่า บล็อกยันต์ใหญ่ ซี่งมีสนนราคาเช่นหาที่หลักหมื่นกลางๆ ส่วนบล็อกยันต์กลาง ยันต์เล็ก ราคาก็ลดหลั่งกันลงมา
เหรียญรุ่นแรกนี้ คนอ่างทองหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สุดยอดในเรื่องแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี มานานแล้ว ทำให้ราคาแพง นักเลงโบราณ นักการเมือง ต่างเสาะแสวงหาไว้คุ้มกันตัว
สำหรับเบี้ยแก้ที่ได้จัดสร้างไว้ มีทั้งเบี้ยพลู ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับของหลวงพ่อพัก จันทสุวัณโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ และเบี้ยจั่น ซึ่งเป็นหอยเบี้ยขนาดเล็ก มีสีขาว นิยมให้เด็กและผู้หญิงห้อยคอ
ลักษณะเบี้ยของหลวงพ่อนุ่ม ถ้าเป็นเบี้ยพลูด้านหลังเบี้ยจะเหมือนกับเบี้ยของพระเกจิสายวิเศษชัยชาญอีกหลายองค์ ถ้าสังเกตที่ด้านใต้ท้องเบี้ยจะเห็นว่า การอุดชันโรงจะอุดปิดเกือบเต็มใต้ท้องเบี้ย ส่วนเบี้ยจั่นจะอุดเกือบเต็มเช่นกัน แต่สังเกตดูจะเห็นว่ามีฝ้าขาว ปกคลุมอยู่ เนื่องจากท่านปิดทับด้วยกระดาษสาบางๆ อีกทีหนึ่ง
เบี้ยแก้ของท่านมีประสบการณ์กล่าวขานกันมากมาย มีพุทธคุณ ป้องกันคุณไสย ยาสั่ง แก้กลับเหตุร้ายให้กลายเป็นดี คงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย
#ฉัตรสยาม
Comentários