top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

ย้อนรอยเกจิ/ ประจำวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ. 2567 หลวงพ่อเมี้ยน วัดโพธิ์กบเจา“เจ้าตำรับ5ม.” "น้ำมัน-น้ำมนต์-มีดหมอ-ไม้ครู-ชานหมาก"

ย้อนรอยเกจิ/

ประจำวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ. 2567

หลวงพ่อเมี้ยน วัดโพธิ์กบเจา“เจ้าตำรับ5ม.”

"น้ำมัน-น้ำมนต์-มีดหมอ-ไม้ครู-ชานหมาก"

หนึ่งในสามทหารเสือแห่ง"เสนา-บางบาล”

"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ

“หลวงพ่อเมี้ยน พุทฺธสิริ” หรือ พระครูพุทธสิริวัฒน์ อดีตเจ้าอาวาส วัดโพธิ์กบเจา อ.บางบาล จ.อยุธยา ศิษย์พึทําคมหลวงพ่จง วัดหน้าต่างนอก,หลวงพ่อปาน วัดบางนมโคท่านเป็นพระเกจิที่มีความเข้มขลังด้านวิทยาคมมากองค์หนึ่งของเมืองนี้ แม้แต่หลวงปู่ดู่ วัดสะแก ยังแนะนำลูกศิษย์ให้ไปกราบนมัสการ

ก่อนปี 2530 ชื่อเสียงของหลวงพ่อเมี้ยนดังเฉพาะในพื้นที่ ได้รับสมญานามว่า “เจ้าตำรับ 5 ม.” คือ น้ำมัน น้ำมนต์ มีดหมอ ไม้ครู ชานหมาก นักสะสมพระเครื่องรุ่นใหม่ๆ ในช่วงปี 2530-40 แทบทุกคนต้องรู้จักหลวงพ่อเมี้ยน ซึ่งโด่งดังมากับสหธรรมิกร่วมยุคอย่าง หลวงพ่อมี วัดมารวิชัย และหลวงพ่อทิม วัดพระขาว จนเรียกขานกันว่า “สามทหารเสือแห่งเสนา-บางบาล”

ท่านเกิดในสกุล “เกิดโภคทรัพย์” เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะเส็ง (ตรงกับปี พ.ศ. 2460) ที่บ้านหาดทราย หมู่ 9 ต.กบเจา อ.บางบาล จ.อยุธยา เป็นบุตรของนายแก้ว และนางทองม้วน มีพี่น้องร่วมท้อง 8 คนวัยเยาว์จะชอบศึกษา ค้นคว้าอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากบิดาเป็นหมอยากลางบ้าน มีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร ยาแผนโบราณต่างๆ ทำให้ท่านได้รับความรู้ ความเข้าใจด้านสมุนไพร และตัวยาแผนโบราณต่างๆ โดยมักออกตามบิดาไปรักษาผู้คนอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้ ยังชอบศึกษาหลักพระธรรมอีกด้วย

ท่านมีโอกาสได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยได้รับการศึกษาภาษาบาลีที่วัดดาวดึงษาราม ธนบุรี สอบได้ชั้นมูล 2 และสอบได้นักธรรมชั้นตรี จากนั้นได้สึกออกมาช่วยงานที่บ้านระยะหนึ่งก่อนเข้าอุปสมบทที่วัดโพธิ์กบเจาในปี พ.ศ. 2481 โดยมีพระครูปุ้ย วัดธรรมโชติการาม (วัดขวิด) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการหลิ่ว วัดพิกุลโสกัณฑ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระครูหลิ่ม วัดโพธิ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า " พุทฺธสิริ "

หลังบวชตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย และปฏิบัติในทางพระกรรมฐานจนมีจิตใจมั่นคงต่อพระพุทธศาสนา เพียง 7 พรรษาก็ได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์กบเจา แทนเจ้าอาวาสองค์ก่อนที่มรณภาพลง ท่านได้ทำหน้าที่เป็นอย่างดี โดยท่านเป็นศูนย์รวมจิตใจ ที่ยึดมั่นและที่พึ่งของชาวบ้านเรื่อยมา

ด้านการศึกษาพุทธคม เนื่องจากท่านเป็น”พระคงแก่เรียน”อยู่เป็นทุนเดิม จึงมักศึกษาหาข้อมูล ความรู้อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นสรรพวิชาอาคมต่างๆ ที่ได้เล่าได้เรียนมาจาก สุดยอดคณาจารย์ที่โด่งดังตลอดกาลอย่าง "พระทองคำ" หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ, หลวงพ่อห่วง วัดบางยี่โท, หลวงพ่ออินทร์ วัดเกาะหงษ์ นครสวรรค์ หลวงพ่อเลียบ วัดเลา กทม. ฯลฯ จนเป็นที่ยอมรับ และกล่าวขานเรื่อยมา

ในส่วนของยันต์ " นะฉัพพรรณรังษี " ซึ่งเป็นยันต์ประจำองค์ ยันต์ตัวเก่งของท่านนั้น การได้มาก็ไม่ธรรมดา ตามประวัติขณะที่ท่านกำลังเจริญกรรมฐานนั้น ได้ปรากฎ " ภิกษุชรา "รูปหนึ่งมาบอกวิธีการเขียนยันต์ " นะฉัพพรรณรังษี "ตัวนี้ พร้อมทั้งวิธีการเรียก การเสก ครบถ้วนทุกอย่าง ซึ่งต่อมาจึงทราบว่า พระภิกษุชรารูปนั้นคือ " หลวงพ่อรอด (เสือ) แห่งวัดประดู่ทรงธรรม "นั่นเอง หลังจากนั้นท่านจึงได้ใช้ยันต์ " นะฉัพพรรณรังษี " ในการปลุกเสกวัตถุมงคลมาโดยตลอด

วาระสุดท้ายหลวงพ่อเมี้ยนมรณภาพลงเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2541 ด้วยโรคมะเร็งที่แก้มด้านขวา หลังจากอาพาธมาประมาณหนึ่งปี สิริอายุ 81 ปี 60 พรรษา

ในส่วนของวัตถุมงคลของท่าน แต่ละรุ่น แต่ละยุคสมัย มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีจุดเด่นในเรื่องของพุทธศิลป์ ความสวยงาม และ เข้มขลัง ด้วยพิธีการโบราณดั้งเดิม ช่วงเวลาการสร้างวัตถุมงคลของท่านแบ่งได้โดยสังเขปดังนี้

ปี พ.ศ. 2490-2505 (พระผงยุคแรก พระขุนแผน,พระผงพุทธรักษา) ปี พ.ศ. 2510 (เหรียญปั้มพุทธรักษารุ่นแรก) ปี พ.ศ. 2520- 2524 (เหรียญรุ่นแรก, เหรียญกตัญูญ, เหรียญทรงเต่าหลังยันต์เกราะเพชร) ปี พ.ศ. 2530 (เหรียญ 70 ปี โพธิ์รอบ ทั้ง กลม-ไข่, พระรูปหล่อรุ่นแรก) ปี พ.ศ. 2534 (เหรียญนะโม, เหรียญหล่อหน้าใหญ่, เหรียญพระกริ่งพุทธรักษา ศิษย์สายวัดสุทัศน์ฯสร้างถวาย)

ปี พ.ศ. 2535 (พระกริ่งช่อฟ้า, เหรียญหล่อช่อฟ้าเต็มองค์, มีดหมอรุ่นแรก ศิษย์สายวัดสุทัศน์ฯสร้างถวาย) ปี พ.ศ. 2536 (ชุดพระกริ่ง-พระชัย และรูปหล่อ มโหสถ, ชุดพิธีเสาร์5 พญาวัน เหรียญเศรษฐี เหรียญเมตตา พระกริ่ง-พระชัย พ่อครูนั่งยอง ปรกตัวหนอน พระรูปหล่อ ศิษย์สายวัดสุทัศน์ฯสร้างถวาย) (ชุดเหรียญไตรมาส 36 ออกวัดโพธิ์ฯ)

ปี พ.ศ. 2537 (พระชุดสิริวัฒน์ พระกริ่งอะระหัง เหรียญหล่อยันต์กลับ เหรียญหล่อเกลียวเชือด เหรียญหล่อพัดยศ เหรียญหล่อพ่อครู เหรียญหล่อพระราหู เหรียญนั่งพาน ศิษย์สายวัดสุทัศน์ฯสร้างถวาย) (พระนาคปรกใบมะขามรุ่นแรก, เหรียญหล่อปลอดโรค-ปลอดภัย ศิษย์สายวัดสุทัศน์ฯสร้างถวาย) ปี พ.ศ. 2539 ( พระกริ่ง 79, พระชุด "บุญนิธิ" ที่ตอกโค้ด "บุญนิธิ" ทั้งหมด ศิษย์สายวัดสุทัศน์ฯสร้างถวาย) ปี พ.ศ. 2540 (ท้าวเวสสุวรรณ, เหรียญแจกทาน ศิษย์สายวัดสุทัศน์ฯสร้างถวาย) (เหรียญชุด 80 ปี ออกวัดโพธิ์ฯ)

วัตถุมงคลทุกรุ่นทั้งที่วัดสร้างโดยตรง หรือท่านเมตตาจัดสร้างและปลุกเสกให้นอกวัด ล้วนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย มีพุทธคุณรอบด้าน มีประสบการณ์ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

#ฉัตรสยาม


ดู 105 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page