top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

ย้อนรอยเกจิ/ ประจำวันอาทิตย์ที่ 25 ก.พ. 2567 “หลวงปู่หยอด ชินวังโส” วัดแก้วเจริญ เกจิดังลุ่มน้ำแม่กลอง/ศิษย์"หลวงปู่ใจ"


ย้อนรอยเกจิ/

ประจำวันอาทิตย์ที่ 25 ก.พ. 2567

“หลวงปู่หยอด ชินวังโส” วัดแก้วเจริญ

เกจิดังลุ่มน้ำแม่กลอง/ศิษย์"หลวงปู่ใจ"

วัตถุมงคลยอดนิยม"ไหมเบญจรงค์5สี"

"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ

“หลวงปู่หยอด ชินวังโส” หรือ “พระครูสุนทรธรรมกิจ” อดีตเจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พระดีเกจิดังแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ศิษย์สืบทอดวิชา"ไหมเบญจรงค์5สี"จากหลวงปู่ใจ อดีตเจ้าอาวาสวัดเสด็จ (ศิษย์หลวงปู่เฒ่ายิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี)

ท่านมีนามเดิมว่า "สุนทร ชุติมาศ" ถือกำเนิดวันอังคารที่ 16 พ.ค.2454 ที่บริเวณตลาด บางน้อย (ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อโรงโขน) ต.ตาหลวง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี บิดาชื่อ นายมุ่ย แซ่อึ้ง อาชีพช่างทำทอง มารดาชื่อ นางเหมือน แซ่อึ้ง อาชีพค้าขาย เป็นบุตรคนที่4 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน

วัยเยาว์ศึกษาหาความรู้จากบิดาจนอ่านออกเขียนได้ เมื่อเติบโตได้เป็นกำลังช่วยมารดาค้าขาย แบ่งเบาภาระให้ครอบครัว เมื่ออายุ 18 ปี ฝากตัวเข้าบรรพชากับพระครูเปลี่ยน สุวัณณโชโต เจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2472 และศึกษาเล่าเรียนพร้อมปรนนิบัติรับใช้

ต่อมาอุปสมบทเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2474 มีพระครูสุทธิสาร (หลวงปู่ใจ) เจ้าอาวาสวัดเสด็จ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเปลี่ยนเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูอุดมสุตกิจ (พลบ) เจ้าอาวาสวัดปราโมทย์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานาม ‘ชินวังโส’ มีหมายความว่า "ผู้สืบวงศ์แห่งพระพุทธเจ้า"

หลังบวชศึกษาพระธรรมวินัย และดูแลปรนนิบัติพระครูเปลี่ยนใกล้ชิดจนกระทั่งมรณภาพ เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2484

วันที่ 17 ส.ค.2484 พระราชมงคลวุฒาจารย์ (หลวงปู่ใจ) เจ้าคณะอำเภออัมพวา แต่งตั้งให้รักษาการเจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญและรักษาการแทนเจ้าคณะตำบลเหมืองใหม่ แทนพระครูเปลี่ยน นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ด้านวิทยฐานะ ความรู้สามัญสอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (สมัครสอบ) จากโรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรสงคราม พ.ศ.2478 สอบได้นักธรรมชั้นตรี–โท–เอก ตามลำดับ

พ.ศ.2484 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญ เจ้าคณะตำบลเหมืองใหม่–วัดประดู่ พ.ศ.2493 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่ "พระครูสุนทรธรรมกิจ" พ.ศ.2499 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2507 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม พ.ศ.2511 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

สำหรับพระเครื่องยุคแรกของหลวงพ่อหยอดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2497 อาทิ พระพุทธชินราช รุ่นแรก ปี2497 พระพิมพ์บัวหงายบัวคว่ำ,พระสมเด็จมีหลายพิมพ์ เช่น อกครุฑ,อกร่องหูบายศรี,ฐานแซม,ฐานบัว,ฐานคู่,คะแนน ฯลฯ ลักษณะเป็นพระสมเด็จเนื้อผง พิมพ์สี่เหลี่ยม สร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณสีขาวอมเหลือง มีส่วนผสมของผงวิเศษต่างๆ ที่รวบรวมเอาไว้ นอกจากนี้ ยังมีผงพุทธคุณที่ลบผงเองเป็นส่วนผสมหลัก

หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ อาจารย์ของท่านเป็นประธานพิธีปลุกเสกร่วมกับพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นร่วมพิธี อาทิ หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จ.นครปฐม, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม,หลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย จ.สมุทรสงคราม,หลวงพ่อแดง วัดท้ายหาด จ.สมุทรสงคราม,หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ จ.เพชรบุรี ฯลฯ

เหรียญรุ่นแรกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2514 ในโอกาสฉลองอายุครบ 5 รอบ หรือ 60 ปี เป็นเหรียญปั๊มแบบมีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดง และทองแดงกะไหล่ทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น เหรียญรุ่น2 สร้างปี พ.ศ.2526

เหรียญ รุ่น"ทรัพย์ล้นเหลือ (สไบทอง)" สร้างปี พ.ศ.2534 เพื่อแจกให้กับผู้ที่ร่วมบริจาคทรัพย์ให้วัดแก้วเจริญ และเนื่องในวาระหลวงพ่อหยอดอายุครบ 81ปี,รูปหล่อ รุ่นแรกปี พ.ศ.2534

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมสูงคือไหมเบญจรงค์ 5 สี ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาจาก"หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ" ซึ่งสร้างมานานหลายยุคสมัย ยุคแรกๆจะสร้างด้วยเส้นไหมแท้ๆ และไม่มีปมขมวด ส่วนปมขมวดมีมาทีหลัง ไหมยุคกลางและยุคหลังของท่านจึงมีปมขมวดเพิ่มเข้ามา แต่ไม่ได้สร้างจากไหมแท้จะเป็นสมมุติไหม (ไหมเทียม )ปัจจุบันถ้าเป็นรุ่นแรกจะหาชมได้ยาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พุทธคุณของไหม 5 สีนี้ กล่าวขานว่า โดดเด่นด้านเมตตา แต่ก็มีเรื่องของแคล้วคลาดคงกะพันอีกด้วย !

สำหรับวัดแก้วเจริญ เป็นวัดโบราณของชาวรามัญ สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาและรกร้างมาเป็นเวลานาน มีเรื่องเล่าว่า ชาวบ้านท่าใหญ่กรุงศรีอยุธยา อพยพหลบภัยพม่าเมื่อเสียกรุง พ.ศ.2310 มาถึงสถานที่แห่งนี้แล้วเห็นว่ามีทำเลเหมาะสม จึงช่วยกันแผ้วถางป่าลึกเข้าไปประมาณ 3 เส้น พบวัดร้าง มีซากอุโบสถ พระพุทธรูปศิลาแลงปางต่างๆ มากมาย และพระพุทธรูปสร้างด้วยแก้ว มีใบเสมารอบอุโบสถ พระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดไม่มีผ้าพาด

บริเวณวัดยังมีเจดีย์รามัญ 2 องค์ ชำรุดหักพังอยู่ ชาวบ้านเห็นว่าคงไม่เหมาะกับการสร้างที่อยู่อาศัยเพราะมีวัดร้างอยู่ จึงไปแผ้วถางสถานที่แห่งใหม่ ห่างจากวัดประมาณ 5 เส้น ตั้งเป็นหมู่บ้านท่าใหญ่ตามชื่อเดิมของผู้อพยพ กระทั่งปี พ.ศ.2340 พระอธิการต่าย ปฏิสังขรณ์ให้มีสภาพดีขึ้น โดยพระพุทธรูปที่สร้างด้วยแก้วเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญ ประชาชนจึงเรียกวัดนี้ว่า "วัดแก้ว" ต่อมาพระพุทธรูปแก้วองค์นี้ เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย และเห็นว่าควรจะเก็บไว้ในที่ปลอดภัย จึงฝังไว้ที่ใต้ฐานชุกชีของพระประธาน ปัจจุบันอยู่ภายนอกฐานชุกชี

วัดประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.2375 ชื่อว่า “วัดแก้วเจริญ” และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2529

พ.ศ.2487 หลวงปู่หยอดได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบลเหมืองใหม่-วัดประดู่. หลังจากได้รับตำแหน่งท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ทั้งการจัดการให้วัดเป็นสถานพยาบาลรักษาญาติโยมที่เดือดร้อนต่างๆ

แต่ที่โด่งดังมากคือ การต่อกระดูก ประสานกระดูก เรียกว่าสมัยก่อนใครแขนหัก,ขาหัก ไม่มีชาวบ้านคนไหนไปโรงพยาบาล แต่มารักษาที่วัดแก้วเจริญกันแทบทั้งนั้น

วาระสุดท้ายท่านมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2541 ณ โรงพยาบาลพญาไท 1 กรุงเทพฯ รวมสิริอายุ 86 ปี 9 เดือน 24 วัน 66 พรรษา รวมดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส 56 พรรษา

#ฉัตรสยาม


ดู 16 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page