top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

รำลึก 142ปีชาตกาล"หลวงปู่ทิม อิสริโก"

รำลึก 142ปีชาตกาล"หลวงปู่ทิม อิสริโก" สุดยอดคณาจารย์วัดละหารไร่ จ.ระยอง

ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ขอนำเสนอประวัติ พระเกจิดังบ้านค่ายระยอง “หลวงปู่ทิม อิสริโก” หรือ “พระครูภาวนาภิรัต” อดีตเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ เป็นยอดพระคณาจารย์ที่มีพลังจิตแก่กล้ารูปหนึ่งของภาคตะวันออก และเป็นพระนักพัฒนา เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวระยองและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์ ด้วยพุทธคุณของวัตถุมงคลของท่านนั้นเป็นที่ปรากฏประจักษ์จนเป็นที่กล่าวขานต่อกันมา ทั้งด้านอยู่ยงคงกระพันและเมตตามหานิยมเรียกว่าสมบูรณ์แบบ

ท่านเป็นคนถือสันโดษ ถือสมถะ ไม่ยึดติดทรัพย์สินใดๆ ท่านฉันอาหารเพียงมื้อเดียวและไม่ฉันเนื้อสัตว์ ท่านสามารถตัดกิเลสออกไปทั้งปวง

ท่านเกิดเมื่อ ปีมะแม วันศุกร์ เดือน 7 ตรงกับวันที่ 16 เดือน มิถุนายน 2422 เป็นบุตรของนายแจ้ นางอินทร์ งามศรี ที่บ้านหัวทุ่งตาบุตร ตำบลละหาร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี)

นามเดิมคือ “ทิม งามศรี” มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันเป็นชายทั้ง 3 คน ท่านเป็นคนกลาง และยังเป็นหลานของ “หลวงปู่สังข์” โดยมารดาของท่านเป็นน้องสาวหลวงปู่สังข์ ซึ่งเป็นพระปรมาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคมอย่างยิ่งในสมัยนั้น และยังเป็นผู้ก่อตั้ง “วัดละหารไร่” ขึ้น เป็นพระที่เรืองวิทยาอาคมมาก ว่ากันถึงขนาดว่า น้ำลายที่ท่านถมถ้าถูกพื้นๆ จะแตก

จนเมื่อทางจังหวัดทราบถึงความเก่งกล้าในวิทยาอาคมของท่าน จึงนิมนต์มาอยู่ที่วัดเก๋งจีน และได้สร้างพระเนื้อตะกั่ววัดเก๋งจีนขึ้น หากแต่ก่อนที่จะไปอยู่วัดเก๋งจีนนั้น หลวงปู่สังข์ได้ทิ้งตำราและวิทยาการต่างๆ ไว้ที่วัดละหารไร่ทั้งหมด เพราะท่านไม่หวงแหนในวิชาของท่านแต่อย่างใด ท่านกล่าวว่า “ใครมีปัญญาก็ค้นคว้าเอาเอง”

ต่อมาเมื่อมีอายุเจริญวัยได้ 17 ปี นายแจ้ผู้เป็นบิดาได้นำตัวของหลวงปู่ทิมไปฝากไว้กับท่านพ่อสิงห์ ที่วัดได้เล่าเรียนหนังสือกับท่านพ่อสิงห์พระอาจารย์เป็นเวลาประมาณ 1 ปี

จนเมื่ออายุได้ 19 ปี ท่านจึงถูกคัดเลือกเป็นทหารและได้เข้าประจำการที่กรุงเทพฯ เป็นเวลาถึง 4 ปีเศษ หลังปลดประจำการได้อุปสมบท เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2449 ณ พัทธสีมา วัดละหารไร่ โดยมีพระครูขาว วัดทับมา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เกตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สิงห์ (พระอาจารย์ของท่าน ในขณะที่ท่านได้ศึกษาครั้งแรก) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “อิสริโก”

จากนั้นท่านได้มาอยู่ที่วัดกับพระอาจารย์สิงห์ 1 พรรษา โดยได้ค้นคว้าและศึกษาตำราของหลวงปู่สังข์ที่ทิ้งไว้ให้ตามตู้พระไตรปิฎก เมื่ออยู่ครบพรรษาแล้ว จึงออกธุดงค์ไปหลายจังหวัดเป็นเวลา 3 ปี แล้วเดินทางกลับมายังจังหวัดชลบุรี บ้านเกิด

ตอนแรกท่านจำพรรษาอยู่ที่ “วัดนามะตูม” เป็นเวลา 2 พรรษา โดยระหว่างนั้น ยังร่ำเรียนวิชากับเกจิอาจารย์หลายอาจารย์ด้วยกัน รวมทั้งฆราวาส โยมเริ่ม โยมรอด และโยมสายนอกจากนี้ยังศึกษาตำราซึ่งตกทอดมาจากหลวงปู่สังข์เฒ่า เจ้าอาวาสวัดเก๋งจีนซึ่งเป็นลุงแท้ๆ ของหลวงปู่ทิม เป็นเวลา 2 ปี เศษ และต่อมาท่านจึงกลับมาอยู่ที่วัดละหารไร่หรือวัดไร่วารี ตามเดิม

ท่านเริ่มพัฒนาวัดขนานใหญ่ ด้วยความร่วมมือจากญาติโยมในท้องถิ่น จนต่อมาคณะสงฆ์ได้มอบหมายให้ท่านเป็น “พระอธิการทิม ในปี 2478 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน ต่อมาในปี 2497 ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร และในปี 2507 ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็น “พระครูภาวนาภิรัติ”

ในครั้งแรกท่านไม่ใยดีกับยศตำแหน่งที่ทางการคณะสงฆ์ได้มอบให้ และถูกทางคณะสงฆ์เร่งรัดให้ท่านเดินทางไปรับพัดยศที่จังหวัด ซึ่งท่านก็ไม่ไปรับ จนกระทั่งชาวบ้านรู้ข่าว จำต้องพร้อมใจกันจัดขบวนแห่ไปรับพัดยศ และตราตั้งมาถวายให้กับท่านถึงวัด ท่านจึงต้องจำยอมรับอย่างเสียมิได้

หลวงปุ่ทิมเป็นพระมักน้อย สันโดษ ไม่ยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส ทั้งนี้ ท่านฉันเช้าประมาณ 7 โมงเช้าและน้ำชาก็เวลา 4 โมงเย็น ถ้าเลยเวลาหลวงปู่ไม่ยอมฉันแม้แต่น้ำชา ท่านฉันข้าวมื้อเดียวมาประมาณ 47 ปี โดยงดเนื้อสัตว์จำพวก เนื้อ หมู เป็ด ไก่ หรืออาหารคาวทุกชนิด ว่ากันว่าแม้แต่น้ำปลาก็ไม่ฉัน แต่อาหารที่ท่านฉันเป็น ผัก ถั่ว หรือเส้นแกงร้อน น้ำพริกกับเกลือป่นอย่างนี้ตลอดมา

ท่านได้มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 23.00 น. ของวันที่ 16 ตุลาคม 2518 ณ หน้าหอสวดมนต์ วัดละหารไร่ หลังจากที่ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา เป็นเวลา 23 วัน

คณะศิษย์ได้จัดพิธีศพบำเพ็ญกุศล ณ วัดละหารไร่ หลังจากทำบุญ 100 วัน อุทิศส่วนกุศลให้กับหลวงปู่ทิมแล้ว ได้เก็บศพไว้ที่ศาลา ภาวนาภิรัต ศาลาการเปรียญ วัดละหารไร่ จนกระทั่งได้ทำการพระราชทานเพลิงศพท่านไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2526 ตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมสิริอายุได้ 96 ปี นับพรรษาได้ 69 พรรษา










ดู 50 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page