รำลึก146ปีชาตกาล"หลวงพ่อปาน" สุดยอดคณาจารย์วัดบางนมโค เจ้าตำรับพระเนื้อผงพิมพ์ทรงสัตว์
กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ขอนำเสนอ รำลึก 146 ปี ชาตกาล หลวงพ่อปาน "หลวงพ่อปาน โสนันโท" เกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งจ.พระนครศรีอยุธยา ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโครูปที่ 3 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2478-2481 ท่านเป็นพระสงฆ์ทรงอภิญญารูปหนึ่งที่บำเพ็ญบารมีเพื่อพุทธภูมิในชาติสุดท้าย แม้ว่าจะมรณภาพไปนานแล้วก็ตาม ชื่อเสียงของท่านยิ่งเป็นที่รู้จัก ในบรรดานักสะสมพระเครื่องทั้งหลาย
ท่านเป็นสหธรรมิกร่วมยุคกับ หลวงปู่ยิ้ม วัดเจ้าเจ็ดใน และหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จนชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาขนานนามให้ว่า "สามเสือแห่งเมืองกรุงเก่า" คือ "พระหมอหลวงพ่อปาน...เกจิอาจารย์หลวงพ่อจง...เมตตาใหลหลงหลวงปู่ยิ้ม"
ท่านเกิดเมื่อวันที่16 กรกฎาคม 2418 ในสมัย รัชกาลที่ 5 ที่หมู่ 5 ต.บางนมโค อ.เสนา จ.พระ นครศรีอยุธยา มีพี่น้อง 7 คน บิดาชื่อ"อาจ" มารดาชื่อ"อิ่ม" นามสกุล"สุทธาวงศ์" อาชีพทำนา เหตุที่ได้ชื่อว่า"ปาน"เพราะท่านมีสัญลักษณ์คือมีปานแดงที่นิ้วก้อยมือซ้ายตั้งแต่โคนนิ้วถึงปลายนิ้ว ท่านเกิด
เมื่ออายุ 21 ปี ได้เข้าอุปสมบทเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2438 โดยมีหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ เป็นอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จ้อย วัดบ้านแพน เป็นกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์อุ่น วัดสุทธาโภชน์ เป็นอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า"โสนันโท"
ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงพ่อสุ่นพอสมควรแล้วเดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดสระเกศ กรุงเทพฯ และเรียนอักขระเลขยันต์กับพระอาจารย์จีน วัดเจ้าเจ็ดใน, เรียนแพทย์แผนโบราณจากวัดสังเวชฯ ศึกษาเพิ่มเติมกับ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย และหลวงพ่อโหน่ง อดีตเจ้าอาวาสวัดคลองมะดัน, เรียนวิชาสร้างพระเครื่องเนื้อดินจากชีปะขาว, เรียนการปลุกเสกพระเครื่องและเป่ายันต์เกราะเพชรจากอาจารย์แจง สวรรคโลก โดยได้รับ"พระคาถาปัจเจกโพธิสัตว์"มาจากครูผึ้ง หลังจากนั้นได้มาอยู่ที่วัดบางนมโคและได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระครูวิหารกิจจานุการ"
หลวงพ่อปานละสังขารไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ตรงกับสมัยรัชกาลที่8 สิริอายุได้ 63 ปี 42 พรรษา
วัตถุมงคลของท่านล้วนเป็นที่ลือเลื่องในด้านพุทธคุณเป็นเลิศเป็นที่ปรากฏ และได้รับความนิยมสะสมอย่างกว้างขวางจากพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งประเทศ โดยการสร้างพระของท่านก็ไม่เหมือนกับวัดอื่น คือท่านมักจะสร้างเป็นรูปพระพุทธเจ้าอยู่เหนือสัตว์พาหนะอันมี ครุฑ หนุมาน เม่น ไก่ นก และปลา ฯลฯ ซึ่งมีความหมายที่สำคัญในการใช้ทุกพิมพ์




Comments