top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

"หลวงปู่บุญรอด ธัมมทินโน" วัดกุดคูณ เกจิดังสายกรรมฐานเมืองอุบล-อายุ75ปี ศิษย์สายตรงหลวงปู่ฤาษีลิงดำ-หลวงปู่ชา

"หลวงปู่บุญรอด ธัมมทินโน" วัดกุดคูณ

เกจิดังสายกรรมฐานเมืองอุบล-อายุ75ปี

ศิษย์สายตรงหลวงปู่ฤาษีลิงดำ-หลวงปู่ชา

ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ขอนำเสนอประวัติพระดีเกจิดังแห่งอีสานใต้...พระครูสารธรรมประคุณ ผศ.ดร.กิตต์ หรือ"หลวงปู่บุญรอด ธัมมทินโน" อายุ 75 ปี พรรษา 53 เจ้าอาวาสวัดกุดคูณ ต.ในเมือง เขต2 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ศิษย์สายตรงหลวงปู่ฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี,หลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง

ชาติภูมิท่านเป็นชาวเมืองสุรินทร์ มีนามเดิมว่า "บุญรอด" นามสกุล "บุญมา" เกิดปีฉลู ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2492 ณ บ้านเลขที่ 17 หมู่ที่ 6 ต.กระหาด อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ บิดาชื่อ "นายแดง" มารดาชื่อ"นางวันดี"

​เมื่ออายุ22ปีได้เข้าอุปสมบทเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2514 ณ พัทธสีมา วัดศรีพรหมอุดมธรรม ต.กระหาด อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ โดยมีพระครูอณุโยคภัทรกิจ วัดปทุมทอง ต.กระหาด อ.จอมพระ จ.สุรินทร์

เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูบริหารธรรมคุณ วัดขมิ้น ต.กระหาด อ.จอมพระ จ.สุรินทร์

เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวิบูลย์ศาสนคุณ วัดศรีพรหมอุดมธรรม ต.กระหาด อ.จอมพระ​ จ.สุรินทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ธัมมทินโน"

วิทยฐานะ พ.ศ.2504​สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านโคกเพร็ดโนนจำปา ต.กระหาด อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ พ.ศ.2522​สอบไล่ได้ตามหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ระดับที่ 4 (ประโยคมัธยมศึกษาตอนต้น) ​จากโรงเรียนวิโรจน์รัตนวิทยา วัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

พ.ศ.2532​ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนคณะจังหวัดบุรีรัมย์

พ.ศ.2562 มหาวิทยาลัยคุณธรรมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ถวายปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ พ.ศ.2562 ได้เข้ารับการถวายรางวัลคชจักร (ครั้งที่1) ซึ่งรางวัลคุณธรรม มอบแก่บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระพุทธศาสนาประจำปี 2562 พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยคุณธรรม แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา น้อมถวายปริญญา สาขาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักด์ พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยคุณธรรม (moral Intarnationnal university ) แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา น้อมถวายตำแหน่งพิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัย

หลวงปู่บุญรอดท่านเป็นพระสายกรรมฐาน ลูกศิษย์ของพระราชพรหมยานเถระ หรือ หลวงปู่ฤาษีลิงดำ แห่งวัดท่าซุง (วัดจันทาราม) จ.อุทัยธานี ที่ได้เข้าเรียนกรรมฐานสายมโนมยิทธิ จากหลวงปู่ฤาษีลิงดำ และท่านยังได้เข้าฝึกปฏิบัติกรรมฐาน เป็นลูกศิษย์พระโพธิญาณเถระ หรือหลวงปู่ชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพงจังหวัดอุบลราชธานี และหลวงปู่สาม อกิญจโน วัดป่าไตรวิเวก รวมทั้งพ่อแม่ครูอาจารย์แถบภาคกลางและภาคอีสานที่ท่านจาริกเที่ยวแสวงหาครูอาจารย์

หลวงปู่เป็นพระอาจารย์สอนมโนมยิทธิที่สำนักวัดโพธิ์ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา โดยเปิดสอนให้พุทธบริษัทที่สนใจในด้านวิปัสนาธุระ ได้บังเกิิดผลตามฐานานุรูปของแต่ละคนเป็นอย่างมาก

ท่านเป็นพระที่ใฝ่การศึกษาทั้งฝ่ายคันถธุระและวิปัสสนาธุระ เป็นพระที่มีจิตอาสาทำงานไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยต่อสังคม ผลงานเป็นที่ประจักษ์สามารถพบเห็นได้ที่วัดกุดคูณ หรือในหน่วยงานต่างๆ ทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชน มีลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพเลื่อมใส อาทิ ผู้พิพากษา อัยการ นักธุรกิจ ตลอดถึงข้าราชการครู ทหาร ตำรวจ นักศึกษา พ่อค้า ประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก

ท่านครองตนแบบพระบ้านธรรมดาๆ เป็นพระชาวบ้านเข้าถึงได้ทุกคน สามารถแสดงธรรมที่เข้าใจง่ายและมักสอนด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่างที่ไม่ถือเนื้อถือตัว สามารถเข้าพบและปรึกษาปัญหาได้ตลอดเวลา จึงทำให้ท่านเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนและคณะศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะประชาชนในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงมีพุทธศาสนิกชนฝั่งลาวมาฝากตัวเป็นบุตรบุญธรรมด้วย

ผลงานการปกครอง...ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการสถานศึกษา ฝ่ายสงฆ์โรงเรียนเบญจมะมหาราช จ.อุบลราชธานี,เป็นกรรมการสถานศึกษาฝ่ายสงฆ์วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี,เป็นที่ปรึกษฝ่ายสงฆ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี,เป็นกรรรมการที่ปรึกษาฝ่ายสงฆ์ทำงานร่วมกับหน่วยงานราชฑัณจังหวัดอุบลราชธานี,เป็นที่ปรึกษาหน่วยงานราชการและเอกชนต่างๆ

สำหรับความเป็นมาของวัดกุดคูณ สมัยก่อนพื้นที่ชุมชนที่ตั้งวัดแห่งนี้เป็นชุมชนเล็กๆติดแม่น้ำมูล ชาวบ้านแถบนี้มีอาชีพหาปลาตามริมน้ำมูล ชาวบ้านในคุ้มชุมชนกุดคูณได้ร่วมกันสร้างที่พักสงฆ์เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยในปี พ.ศ.2483–2484 กรมการศาสนาได้มาสำรวจพื้นที่และมีการสร้างเป็นที่พักสงฆ์ กระทั่งปี พ.ศ.2515 มีการสร้างอาคารเล็กๆให้พระเณรได้ปฏิบัติธรรม

ต่อมามีพระภิกษุมาเรียนหนังสือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการทยอยสร้างกุฏิ ศาลากลางเปรียญ แต่ยังสร้างโบสถ์ไม่ได้ หลังจากนั้น 23 ปี จึงขอขึ้นทะเบียนเป็นวัดกับกรมการศาสนา โดยก่อนขึ้นทะเบียนเป็นวัด ชาวบ้านได้เรียกวัดกุดคูณ หลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็นวัดบ้านกุดคูณ วัดท่าแจ้ง วัดใหม่กุดคูณ เป็นต้น



ดู 212 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page