top of page
ค้นหา

"หลวงปู่วัน จันทวํโส" วัดโนนไทยเจริญ สมญานาม"เทวดาขมังเวทย์เมืองขุนหาญ" เกจิเฒ่า101ปี/ศิษย์ปู่สรวงเทวดาเล่นดิน

รูปภาพนักเขียน: อ.อนุชา ทรงศิริอ.อนุชา ทรงศิริ

"หลวงปู่วัน จันทวํโส" วัดโนนไทยเจริญ

สมญานาม"เทวดาขมังเวทย์เมืองขุนหาญ"

เกจิเฒ่า101ปี/ศิษย์ปู่สรวงเทวดาเล่นดิน

ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ขอนำเสนอประวัติ"หลวงปู่วัน จันทวํโส" อายุ 101ปี วัดโนนไทยเจริญ ต.ภูฝ้าย อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ พระเกจิผู้เฒ่าผู้คงแก่เรียน รอบรู้ในข้ออรรถธรรมแลสรรพวิชา เชี่ยวชาญพระเวทย์คาถาอาคมอย่างเอกอุ

สมญานาม"เทวดาขมังเวทย์แห่งเมืองขุนหาญ"

เดิมท่านชื่อ "นายวัน ทาประจิตร" เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2466 ที่อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เป็นบุตรของ นายจันทร์ และ นางทองดี ทาประจิตร มีพี่น้อง 12 คน ท่านเป็นคนที่ 2 มีอาชีพทำไร่ทำนา คุณพ่อจันทร์ ท่านเป็นหมอพื้นบ้านของหมู่บ้านทั้งเป็นมัคทายกวัด จึงมีความรู้ทางการรักษาโรคและความรู้ทางศาสนาด้วย

ในวัยเด็กมีนิสัยที่ไม่เหมือนใครในหมู่พี่น้อง เป็นคนเรียบร้อยไม่ค่อยพูด ชอบไปเล่นที่วัด จิตใจฝักใฝ่อยู่กับวัดวาจนต้องขอพ่อแม่บรรพชาเป็นสามเณร หลังจากบรรพชาแล้วก็ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย ด้วยความเก่ง ฉลาดหลักแหลมทางสติปัญญาจึงเล่าเรียนจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก

ระหว่างศึกษาพระธรรมวินัยได้ฝากตัวเป็นศิษย์ "หลวงปู่ชา"วัดหนองป่าพง ด้วยความตั้งใจใฝ่ศึกษาหาความรู้หลวงปู่ชาได้ถ่ายทอดวิชา ฝึกฝนสมาธิและการป้องกันภูติผีให้ หลังอยู่ศึกษากับหลวงปู่ชา 3 ปี ได้กราบลาเพื่อไปศึกษาหาความรู้ที่ใหม่อีก โดยเดินธุดงค์ไปเรื่อยๆจนได้มาจำพรรษาที่วัดบ้านน้ำเกลี้ยง ต.หนองไฮ อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี ครั้นต่อมามีกุลาหลงทางมาได้ขอพักอาศัยที่วัดบ้านน้ำเกลี้ยงที่ท่านจำพรรษาอยู่ จนได้รู้จักสนิทสนมกัน ทราบในภายหลังว่าชื่อ "อาจารย์กระมัล" และได้รีบการถ่ายทอดวิชาปราบเสือ

ครั้นอายุครบ 20 ปีได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ จากนั้นได้ออกเดินทางธุดงค์เข้าป่าเพื่อแสวงหาความรู้และศึกษาพระธรรมวินัยจากธรรมชาติ ท่านธุดงค์ไปตามป่าเขาจนได้มาพบกับอาจารย์น้อย วัดถ้ำผาเสด็จ จ.สระบุรี ได้ขอศึกษาเล่าเรียนวิชาคงกระพัน จากนั้นมุ่งหน้าออกธุดงค์ไปตามป่าเขาเลาะเขตแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างเดินธุดงค์ถึงน้ำตกแห่งหนึ่งได้พบกับชีประขาวท่านหนึ่ง ซึ่งก็คือ "หลวงปู่สรวง เทวดาเล่นดิน" จึงขอเรียนวิชาอยู่ถึง 3 เดือน หลังสำเร็จวิชาต่างก็แยกย้ายกันไปตามวิถีที่ต้องการ

หลวงปู่สรวงเดินทางลัดเลาะไปพักอาศัยตามกระท่อมปลายนาแถวท้ายๆหมู่บ้านต่างๆตามจริตของท่าน ส่วนหลวงพ่อวันธุดงค์ต่อเข้าไปที่ประเทศกัมพูชา เพื่อศึกษาวิชาอาคมกับพระเกจิและอาจารย์ฆราวาสอีกหลายองค์ เมื่อสำเร็จวิชาจนพอแก่ใจของแล้ว จึงธุดงค์ไปทางฝั่งประเทศลาวใกล้กับช่องเม็ก ได้พบกับนายพลลาวท่านหนึ่งที่เป็นคนดีมีวิชาติดตัว เมื่อได้สนทนากันนายพลลาวเกิดความเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติและความใฝ่ศึกษาเรียนรู้ของท่าน จึงถ่ายทอด"วิชาปราบผี"ให้

ต่อมา ทางราชการมีหนังสือเรียกเข้าเป็นทหาร จึงได้ลาสิกขาเพื่อรับราชการทหาร ขณะที่เป็นทหารนั้นท่านได้รับคำสั่งจากหน่วยเหนือให้ไปร่วมปราบปรามคอมมิวนิสต์ ที่อ.นาแก จ.นครพนม ระหว่างที่อยู่ในฐานที่ตั้ง เมื่อมีเวลาว่างท่านก็ใช้วิชาอาคมที่มีทำตะกรุดแจกเพื่อนทหารที่ไปด้วยกันพกติดตัว จนที่สุดก็มีเหตุการณ์ทดสอบประสิทธิภาพความขลังตะกรุดของท่าน

กล่าวคือมีวันหนึ่งในขณะที่กำลังหุงหาอาหารในกองร้อย ก็เกิดมีลูกปืนใหญ่ฝ่ายตรงข้ามถูกยิงลอยละลิ่วมาตกจุดที่หุงหาอาหารพอดี แต่ลูกปืนใหญ่ไม่แตกและไม่มีผู้ใดได้รับอันตรายจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น จนท่านได้รับความเชื่อมั่นจากเพื่อนทหารร่วมค่ายว่าของแท้ขลังจริงๆ ท่านรับราชการทหารจนได้รับการแต่งตั้งเลื่อนขั้นเป็นสิบตรี โดยใช้ชีวิตเป็นทหารอยู่ช่วงระยะเวลาพอสมควร ก็รู้สึกเบื่อจึงขอลาออกมาเป็นพลเรือนเต็มขั้น

หลังจากนั้นท่านกลับมาอยู่ภูมิลำเนาเดิม ในระหว่างนี้ได้เป็นที่พึ่งของชาวบ้านแดนไกลปืนเที่ยง เป็นทั้งหมอพื้นบ้าน รักษาคนถูกผีเข้า ถูกคุณไสย ไล่พิษงู สัตว์ทำร้ายมาท่านก็รักษาให้จนหายแทบทุกคน และเป็นทั้งฝ่ายปกครองดูแลความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน นักเลงในย่านนั้นรู้จักท่านดีในความคงกระพัน ยิงฟันไม่เข้า แค่เอ่ยชื่อ "นายวัน" เหล่านักเลงล้วนเกรงกลัวหลบหนีไม่อยากยุ่งด้วย

ล่วงถึงปี พ.ศ.2533 ท่านเกิดเบื่อหน่ายทางโลก จึงบอกลาครอบครัวขอบวชเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้งที่วัดบ้านนานวล แล้วมาจำพรรษาที่วัดหนองจิก ต.ภูฝ้าย (วัดหลวงปู่แสนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่วันได้บริจาคที่ดินสร้างไว้) หลังออกพรรษาท่านออกเดินธุดงค์ตามหาหลวงปู่สรวงอีกครั้งเพื่อต่อวิชาที่เหลือ ในครั้งนี้ได้รับการถ่ายทอดวิชารักษาคนป่วยและอีกหลายวิชา

เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว หลวงปู่สรวงได้เอ่ยกับท่านว่า“เอ็งจงกลับไป แล้วไปรักษาคนป่วย ช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก เพราะแต่ก่อนเอ็งเคยเป็นเทวดา ให้กลับไปนะ” หลวงปู่วัน จึงกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านหนองจิก เพื่อสงเคราะห์ชาวบ้านตามที่รับปากหลวงปู่สรวงไว้ หลังออกพรรษาท่านพิจารณาเห็นว่า บ้านโนนไทยเจริญ ที่ห่างออกไปประมาณ 2 ก.ม. ยังไม่มีวัดเพื่อให้ชาวบ้านได้มีที่สร้างบุญกุศล จึงได้รวบรวมปัจจัยซื้อที่ดินสร้างวัดขึ้นใหม่ที่บ้านโนนไทยเจริญ ชื่อ"วัดภูไทยสามัคคี" ต.ภูฝ้าย อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ และท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดภูไทยสามัคคีแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น"วัดโนนไทยเจริญ"

หลวงปู่วันเป็นพระเกจิที่มีแต่ความสงบร่มเย็นในจิตใจ ไม่เป็นผู้ที่โอ้อวดว่ามีวิชาอาคมขลัง ท่านจะไม่แสดงออก นอกจากว่ามีลูกหลานหรือญาติโยมมาขอความช่วยเหลือ เมื่อเจ็บป่วยและเดือดร้อนท่านก็ทำให้หายได้ แต่เมื่อคนหายป่วยกลับไปไปพูดก็ไม่ค่อยมีคนเชื่อ ท่านก็บอกว่า "ไม่ต้องพูดอะไรมาก แล้วแต่บุญใครบุญมัน เมื่อบุญเขามี เขาก็จะเข้าถึงเอง"

ท่านดำรงตนแบบสมถะ มีจริยวัตรที่งดงาม ใครนิมนต์ไปที่ใด ท่านไม่เคยปฏิเสธ ลูกศิษย์ลูกหาขอให้ท่านทำกิจอันใด ท่านก็จะไม่บอกว่า ทำไม่ได้หรือทำไม่เป็น แต่ทำทุกอย่างที่ลูกศิษย์ขอ ท่านจึงเริ่มเป็นที่รู้จักของสาธุชนแดนไกลมากขึ้น

ปี2559 "บิ๊กเฒ่า" เจ้าสัวคนดังร้านแฮปปี้คาร์ศรีสะเกษ ได้รับคำแนะนำให้ไปกราบสักการะหลวงปู่วัน และได้มีประสบการณ์บางอย่างกับตัวเองจึงได้มาเล่าสู่ญาติมิตรและเพื่อนๆฟังต่างเกิดความเลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่วันอย่างมาก แต่ถึงกระนั้น ท่านก็ไม่ได้อวดโอ้ว่ามีวิชาอาคมขลังแต่อย่างใด มีแต่ลูกศิษย์ลูกหาที่ประสบพบเหตุการณ์กับตัวเองที่พูดปากต่อปากถึงวิชาอาคมขลังของหลวงปู่วัน จนเป็นที่มาของสมญานาม"เทวดาขมังเวทย์แห่งเมืองขุนหาญ"

นอกจากหลวงปู่สงเคราะห์ญาติโยมด้วยธรรมะ การรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่หมอปัจจุบันรักษาไม่หายแล้ว ท่านยังมีวัตถุมงคลที่ท่านทำด้วยพลังจิตและวิชาที่ศึกษาเรียนรู้มาจากครูบาอาจารย์ ทุกอย่างที่ท่านสร้างขึ้นนั้นท่านรู้จริง ทำได้จริง และมีพุทธคุณความเข้มขลังจริงๆ


 
 
 

Comments


  • generic-social-link
  • generic-social-link
  • youtube

©2020 by kampeenews. Proudly created with Wix.com

เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดสระบุรี คนทั่วไปจะต้องคิดถึง “รอยพระพุทธบาท” ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่ง เดียวในประเทศไทย ที่มีรอยพระพุทธบาทของแท้ประทับรอยอยู่ ในแต่ละปีจะมีทั้งพระภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไป ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศตั้งใจเดินทางมากราบนมัสการ เพราะถือว่าหากได้เดินทางไปกราบรอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีแล้ว เป็นมงคลสูงสุดในชีวิตก็ว่าได้

 ไม่ใช่ว่าสระบุรีจะมีแต่สถานที่เท่านั้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พระเกจิอาจารย์ของสระบุรีที่มากไปด้วยประสบการณ์ ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันโด่งดังไปทั่วภูมิภาคและในท้องถิ่นมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ หลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ, พระอุปัชฌาย์กาน วัดโคกโพธิ์, อุปัชฌาย์ตัน วัดอู่ตะเภา, หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย, หลวงพ่อย้อย วัดอัมพวัน และหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง เป็นต้น

 และยังมีพระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ข้อวัตรงดงามยิ่ง โดยเฉพาะวางอุเบกขาได้อย่างยอดเยี่ยม เปี่ยมด้วยความเมตตาบารมีแก่คนทุกชั้นทุกกระดับอย่างเสมอภาค พระสงฆ์รูปนั้นคือ “พระครูอรรถธรรมาทร” หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า “หลวงพ่อเฮ็น แห่งวัดดอนทอง” ตำบลดงตะงาว อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านถึงจะสร้างไว้ไม่เก่ามาก แต่ความนิยมในหมู่นักสะสมก็ไม่ธรรมดา

 โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นแรก” และ “พระกริ่งดอนทอง” สนนราคาเล่นหาสูงขึ้นเรื่อย

 ตามประวัติ หลวงพ่อเฮ็นท่านถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2454 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 1 ปีกุน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โยมบิดาชื่อนายอยู่ โยมมารดาชื่อนางเขียว ศิริวงษ์ ซึ่งมีอาชีพเกษตรกร

 เมื่ออายุได้ 8 ขวบได้ ไปศึกษาอักขระสมัยทั้งไทยและขอมกับพระอาจารย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งอยู่ไกล้บ้านของท่าน พออ่านออกเขียนได้ก็ลาจากวัดมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ ท่านเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง ใจคอกล้าหาญอดทนกว้างขวางมีพรรคพวกเพื่อนฝูงมาก ยุคนั้นบ้านกะวาปาลาย แขวงเมืองกำพงธม เป็นแดนนักเลงหัวไม้ มีทั้งชนไก่กัดปลา ข้องอ้อย ฯลฯ เวลามีงานวัดมักจะนัดตีกันเป็นประจำ

 สำหรับนายเฮ็นพรรคพวกเพื่อนฝูงย่องให้เป็นลูกพี่ ด้วยเหตุนี้ทำให้บิดามารดาวิตกเกรงว่าหนทางข้างหน้าอาจจะเสียคน เพราะคบเพื่อนไม่เลือกว่าคนดีคนพาล ต่อมาเมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2474 ปีมะแม เมื่อนายเฮ็นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ บิดามารดาจึงทำการอุปสมบทให้ ณ พัทสีมาวัดพรรณนารายณ์ ตำบลกะวา อำเภอปาลาย แขวงเมืองกัมพงธม ประเทศกัมพูชา (เขมร) โดยมี พระอุปัชฌาย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มั่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์ให้ฉายว่า “สิริวังโส”

 เมื่อบวชแล้วก็จำพรรษาอยู่ที่วัดพรรณนารายณ์ ทำอุปัชฌาย์วัตรอาจาริยวัตรตามธรรมเนียมพระนวกะผู้บวชใหม่ และศึกษาพระธรรมวินัยท่องบ่นสวดมนต์จนจบทุกยุคทุกคัมภีร์ มีอุตสาหะจดจำได้แม่นยำและเกิดเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง

 สิ่งสำคัญได้ศึกษาเล่าเรียนในด้านคาถาอาคมจนมีความชำนาญ เจนจัดด้านวิชาแขนงต่างๆ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อแก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว ท่านจึงได้ตัดสินใจออกธุดงค์รอนแรมมาตามป่าและภูเขาเพื่อแสวงหาที่สงบวิเวกบำเพ็ญสมณธรรม และปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ต่อมาได้อยู่จำพรรษาที่ “วัดดอนทอง” เมื่อปี 2479 ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่นั่นได้เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านดอนทองมาก ด้วยมีศีลาจารวัตรงดงาม ครั้นเมื่อ หลวงพ่อแพ เจ้าอาวาสวัดดอนทอง มรณภาพลง ชาวบ้านได้นิมนต์หลวงพ่อเฮ็น ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา ปี 2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูอรรถธรรมทร”

 หลวงพ่อเฮ็น ได้สร้างมงคลวัตถุไว้หลายรุ่นหลายแบบ อาทิ ผ้ายันต์อุษาสวรรค์ มีพุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตามหานิยม มีความเชื่อว่า เมื่อต้องการใช้ก่อนออกจากบ้าน ให้นำผ้ายันต์อุษาสวรรค์ เช็ดหน้าจากซ้ายไปขวาสามครั้ง ว่ากันว่าจะมีเสน่ห์ไปตลอดทั้งวัน

 หลวงพ่อเฮ็นมรณภาพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 สิริอายุได้ 89 ปี

 สำหรับวัตถุมงคล “ผ้ายันต์อุษาสวรรค์” นั้น เซียนพระเครื่องต่างเสาะแสวงหาสะสมกันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เหรียญรุ่นแรก “เหรียญเสมาหลวงพ่อเฮ็นรุ่นแรก ปี 2529” ยังที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คณะศิษย์จัดสร้างถวายมุทิตาสักการะในโอกาสครบรอบอายุ 75 ปี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปใบเสมา มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเหรียญเนื้อทองแดง

 ด้านหน้าเหรียญตรงกลาง เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเฮ็นนั่งขัดสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ 3 ชั้น ด้านใต้ฐานอาสนะเขียนคำว่า “หลวงพ่อเฮ็น สุวรรณศรัทธา” ด้านในขอบโค้งใบเสมาด้านซ้ายล่าง เขียนว่า “พ.ศ.๒๕๒๙” ส่วนด้านขวาของเหรียญเขียนว่า “อายุ ๗๕ ปี” ด้านหลังเหรียญ ตรงกลาง เป็นยันต์ ด้านบนยันต์เขียนว่า “วัดดอนทอง” ขอบโค้งด้านล่าง เขียนคำว่า “ต.ดงตะงาว กิ่ง อ.ดอนพุด จ.สระบุรี” ถือเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมในวงการ มีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้านทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย

 ส่วนวัตถุมงคลที่กำลังมาแรงอีกพิมพ์ "พระกริ่งดอนทอง" เป็นรุ่นแรกที่สร้างในวาระหลวงพ่อเฮ็น ครบ 7 รอบ 84 ปี นับเป็นวัตถุมงคลรุ่นพิเศษ ที่ท่านได้มอบหมายให้สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันสมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งด้านรูปลักษณ์พิมพ์ทรงที่ได้เน้นความสวยงามคมชัด รวมทั้งในด้านเนื้อหาซึ่งได้มอบชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งแผ่นจารตะกรุดสามพี่น้องของหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง ชนวนกริ่งญาณวิทยาคมพร้อมตะกรุดสาม กษัตริย์ของหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา และแผ่นจารตะกรุดสามกษัตริย์ของหลวงพ่อเฮ็น

 ทั้งหมดได้นำมาหลอมผสมผสานเพื่อให้วัตถุมงคลรุ่นนี้ ทรงคุณวิเศษยิ่งควรค่าแก่การบูชา ได้ผ่านพิธีมหาพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2537 จุดประสงค์ในการสร้างเพื่อสมทบทุนการศึกษาเด็กนักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ สมทบทุนอาหารกลางวัน และจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ วัตถุมงคลรุ่นนี้ผู้ที่มีไว้ครอบครองเคยมีประสบการณ์กันมาแล้วในหลายๆด้าน เด่นทางเมตตา มหานิยม ค้าขาย แคล้วคลาด โชคลาภ

 “พระกริ่งดอนทองรุ่นแรก” ที่จัดสร้างขึ้นเนื้อทองคำ สร้างจำนวน 84 องค์ เนื้อเงินจำนวน 500 องค์ เนื้อนวะจำนวน 500 องค์ เนื้อทองเหลืองจำนวน 200 องค์ ด้านหลังตอกโค้ด “นะ พุท ธา” ชัดเจน เป็นวัตถุมงคลที่มาแรง พิมพ์สวยมีอนาคต ของปลอมแปลงยังไม่มี สนนราคาวิ่งแบบไม่คงที่ ขึ้นติดอยู่ในระดับหลักพันกลางๆ  

 วัตถุมงคลของหลวงพ่อเฮ็นจึงเปี่ยมล้นด้านพุทธคุณ ทั้งคลาดแคล้วคงกระพันชาตรี, เมตตาค้าขายมหาเสน่ห์ และแก้อาถรรพณ์มนต์ดำขับไล่เสนียดจัญไรทั้งปวง เก็บสะสมไว้ไม่มีคำว่าผิดหวัง ในไม่ช้าไม่นานจะกลายเป็นวัตถุมงคลที่มากด้วยราคาและหายากยิ่ง

 นักสะสมมือใหม่รีบหาไว้บูชาด่วน!!!

bottom of page