"หลวงปู่บุญเหลือ"วัดโคกปี่ฆ้อง เกจิหมอยาอาคมขลังเมืองสระแก้ว ศิษย์หลวงพ่อทอง-หลวงปู่โห
ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ขอนำเสนอประวัติ พระดีเกจิดังแห่งสระแก้ว .. หลวงปู่บุญเหลือ สํวโร"วัดโคกปี่ฆ้อง อายุ 86 ปีศิษย์สายวิชาพระครูรัตนสราธิคุณ หรือ"หลวงพ่อทอง วัดสระแก้ว" และ "หลวงปู่โห วัดพุทธิสาร" 2เกจิยุคสงครามอินโดจีน
ท่านมีนามเดิม "บุญเหลือ" หรือ "จ่อย" นามสกุล "ฆ้องจันดา" เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2478 ตรงกับ วันแรม 13 ค่ำ เดือน 5 ปีชวด ณ บ้านเลขที่ 98 หมู่ที่ 4 บ้านลุงพลู ต.โคกปี่ฆ้อง อ.สระแก้ว จ.ปราจีนบุรี (ปัจจุบันคืออ.เมือง จ.สระแก้ว) บิดาชื่อ นายกล่ำ มารดาชื่อนางเล็ก ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกร ทำไร่อ้อยน้ำตาล,ไร่มันสำปะหลัง,ทำสวน
ช่วงเยาว์วัยอาศัยวัดวาอารามเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ไปเรียนบ้าง ไม่ไปบ้าง สุดท้ายก็ไม่ได้ไปเรียน เพราะต้องช่วยเหลือครอบครัวทำงาน ในช่วงวัยรุ่นไปรับจ้างทำงานเกษตรกรรมใน ตำบลโคกปี่ฆ้อง ที่เป็นแหล่งการปลูกอ้อยน้ำตาลและมันสำปะหลัง จนกระทั่งอายุครบเกณฑ์ทหารเมื่อปี พ.ศ.2498 ท่านเป็นคนรูปร่างเล็กไม่เข้าเกณฑ์การจับใบดำใบแดง
แต่เผอิญในปีนั้นจำนวนทหารเกณฑ์ไม่ครบตามที่กำหนดไว้ และประเทศชาติกำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รวมถึงลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าครอบงำผู้คนที่มีความคิดเห็นต่าง เป็นเหตุให้ท่านต้องเข้ารับราชการทหารในสังกัดมณฑลทหารบทที่ 12 ค่ายจักรพงษ์ จ.ปราจีนบุรี
ในระหว่างรับราชการทหารได้มีโอกาสไปฝากตัวเป็นศิษย์พระครูศีลคุณวัฒนาทร หรือ "หลวงปู่โห พุทฺธสโร" วัดพุทธิสาร ต.หนองหมากฝ้าย อ.วัฒนานคร จ.ปราจีนบุรีในขณะนั้น ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงอภิญญาในยุคสงครามอินโดจีนแห่งเมืองปราจีนบุรี เมื่อว่างเว้นภารกิจได้ลาราชการทหารมาศึกษาเล่าเรียนสรรพวิชาการแพทย์แผนไทยกับ หลวงพ่อโหเป็นประจำ
ทั้งนี้ หลวงพ่อโหเป็นศิษย์ของ"หลวงพ่อบุคคโล ภูริปญฺโญ" วัดป่าช่องกุม ต.ช่องกุ่ม อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว พระเกจิผู้เฒ่ามากพรรษากาล พรรษาธรรมแห่งปราจีนบุรี มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ทราบกันดีในความพิเศษพิสดาร
ชาวบ้านเชื่อกันว่า หลวงพ่อบุคคโล ขณะมีชีวิตสามารถหายตัวได้ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์บันดาลน้ำ บันดาลไฟ บันดาลลม บันดาลฝน ให้ตกลงมาในพื้นแผ่นดิน เวลาท่านเดินไปแข่งฝน ฝนตกมาก็ไม่เปียกหลวงพ่อบุคคโล ย่อย่นแผ่นดิน หายตัวได้จำแลงแปลงกายได้
ที่เพ่งเล็งถึงฌานสมาบัติชั้นสูง พระอภิญญาณวิถี 6 พระวิปัสสนาญาณวิถี 8
หลังปลดประจำการในปี พ.ศ.2501 ขณะอายุได้ 23 ปี ท่านได้เข้าอุปสมบทครั้งแรก ณ วัดสระแก้ว อ.สระแก้ว จ.ปราจีนบุรี โดยมี พระครูรัตนสราธิคุณ (หลวงพ่อทอง รัตนสาโร) วัดสระแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูปัญญาสรคุณ (หลวงพ่อพิมพ์) วัดรีนิมิตร เป็นพระกรรมวาจารย์ พระครูใบฎีกาบุญรอด พุทฺธสโร วัดโคกปี่ฆ้อง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
แต่บางกระแสกล่าวว่า ท่านอุปสมบท ณ วัดศาลาลำดวน อ.สระแก้ว จ.ปราจีนบุรี โดยมี พระครูธรรมยานประยุต (หลวงพ่อบุญเลี้ยง) วัดศาลาลำดวน เป็นพระอุปัชฌาย์
สำหรับพระเกจิอาจารย์ที่หลวงปู่บุญเหลือได้ฝากตัวเป็นศิษย์ขอเรียนวิชาอาคมต่างๆคือ หลวงพ่อทอง และหลวงปู่ออม วัดสระแก้ว,หลวงพ่อพิมพ์ วัดรีนิมิตร (บ้านแก้ง) ,หลวงพ่อบุญเลี้ยง วัดศาลาลำดวน รวมทั้งไปศึกษาเพิ่มเติมด้านอักขระ เลขยันต์ พระคาถาอาคมต่างๆกับหลวงพ่อโห วัดพุทธิสาร(หนองหมากฝ้าย)
หลวงปู่บุญเหลืออุปสมบทอยู่3พรรษาก็ลาสิกขาออกมามีครอบครัว โดยมีบุตรี 6 คน และบุตรชายบุญธรรม 1คน ในช่วงนี้ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนทางหมอสูตร หมอมนต์ หมอธรรม ตามประเพณีนิยมในท้องถิ่นแนวตะเข็บชายแดนที่มีการผสมผสานระหว่าง ไทยอีสาน กับไทยเขมร ที่มีสำนักหมอสูตร หมอมนต์ หมอธรรมที่มีชื่อเสียงอยู่ประจำท้องถิ่นมากมาย
ความรู้ต่างๆเหล่านี้ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ทั้งการรักษาโรคพยาธิด้วยการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนโบราณด้วยว่านยาสมุนไพร ทั้งการรักษาอาการทางจิตด้วยพระคาถาอาคม การประกอบพิธีต่อดวงชะตาชีวิต ด้วยพิธีกรรมการเซ่นไหว้บูชา การเจริญพระพุทธมนต์ ให้แก่เทวดาประจำวันเกิด พระราหู พระเกตุ ที่กำลังเสวยอายุ ทั้งการสะเดาะเคราะห์ ด้วยการอาบน้ำพระพุทธมนต์ เป็นต้น
หลวงปู่บุญเหลือได้เที่ยวสืบเสาะตามหาหมอสูตร หมอมนต์ หมอธรรม ครูบาอาจารย์เจ้าทั้งหลาย ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีใน เมืองปราจีนบุรี สระแก้ว บุรีรัมย์ สุรินทร์ และเลยเข้าไปถึงเมืองเสียมเรียบ เมืองเสียมราบ ประเทศกัมพูชา ที่ถือเป็นแหล่งชุมนุมพระเวทในศาสตร์สายวิชาไสยนิกายพราหมณ์สูตร เขาพนมกุเลน หรือ เขาลิ้นจี่ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบในกระบวนการของพิธีกรรมที่เป็นการควบรวมของ สองลัทธิ สามศาสนา ทางความเชื่อที่เน้นไปในการใช้พระคาถา มนตรา บทสวดต่างๆ ตามแต่ลักษณะของความทุกข์ร้อนยากลำบากของผู้คนที่มาหา
ทั้งนี้หน้าที่ของหมอสูตร หมอมนต์ หมอธรรม คล้ายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณทางสังคมในแต่ละชุมชนผู้คนชาวชนบทที่มีการสืบทอดต่อเนื่องประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมกันมาอย่างยาวนานนับเป็นเวลาหลายร้อยปี แต่การที่จะมาทำหน้าที่ หมอสูตร หมอมนต์ หมอธรรม ได้นั้น มีทั้งที่ต้องผ่านการบวชสืบต่อต่อช่วงกันมาในตระกูลวงศ์ว่านเครือ และ มีทั้งที่ต้องไม่ผ่านบวช คือ ผู้ที่มาฝากตัวเป็นศิษย์ในสำนัก ถือเป็นผู้ที่มีความเสียสละอุทิศตนให้แก่สังคมในชุมชนโดยสุจริตใจ ไม่มุ่งหวังลาภสักการบูชาใดๆ
ต่อมาท่านเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตการครองเรือนจึงเข้าอุปสมบทอีกครั้ง เมื่อวันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2548 ตรงกับวันอาสาฬหบูชา ณ วัดโคกปี่ฆ้อง โดยมี พระครูธำรงสิริวัฒน์ (บุญทา) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดอัศวิน ธมฺมาลโย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการฉลอง ปญฺญาทีโป เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "สํวโร" แปลว่า "ผู้มีความสำรวมระวัง"
จากนั้นท่านได้มาจำพรรษาและเล่าเรียนพระธรรมวินัยที่วัดลุงพลู หมู่ที่ 4 บ้านลุงพลู ต.โคกปี่ฆ้อง อ.เมือง จ.สระแก้ว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2556 พระครูธำรงสิริวัฒน์ (บุญทา)มรณภาพจึงย้ายกลับมาจำพรรษาที่วัดโคกปี่ฆ้องตามคำอาราธนานิมนต์ของทายกทายิกา เพื่อมารักษาการเจ้าอาวาสวัดโคกปี่ฆ้อง ต่อมาท่านได้ทำหนังสือถึงทางคณะสังฆมนตรีจังหวัดสระแก้วแต่งตั้งให้ "หลวงปู่วาด ปิยสีโล" ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดโคกปี่ฆ้องจนถึงปัจจุบัน
วัดโคกปี่ฆ้อง ตั้งอยู่หมู่ 9 บ้านใหม่กุดชีวา ต.โคกปี่ฆ้อง อ.เมือง จ.สระแก้ว เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เดิมขึ้นอยู่กับคณะสงฆ์จังหวัดปราจีนบุรี เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาก่อน ปี พ.ศ.2500 ปรากฏหลักฐาน คือ อุโบสถสร้างเมื่อปี พ.ศ.2506 บูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อปี พ.ศ.2535 พื้นที่วัดประมาณ10 ไร่เศษ อดีตเจ้าอาวาสที่มีชื่อเสียงเป็นพระเกจิอาจารย์คือ "หลวงพ่อบุญรอด พุทฺธสโร"
コメント