หลวงปู่เที่ยง ติสสาโร วัดสำนักขามยอดปรมาจารย์ว่านแห่งตะวันออก
- อ.อนุชา ทรงศิริ
- 24 มิ.ย. 2564
- ยาว 1 นาที
หลวงปู่เที่ยง ติสสาโร วัดสำนักขาม ยอดปรมาจารย์ว่านแห่งตะวันออก ศิษย์หลวงพ่อโด่-ร่วมยุค"หลวงปู่ทิม"
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ขอนำเสนอ เรื่องราวประวัติ “หลวงปู่เที่ยง ติสสาโร”ปฐมเจ้าอาวาสวัดสำนักขาม ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เรื่องราวของท่านอาจไม่ชัดเจน เพราะมาจากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่สืบต่อกันมา แต่ที่แน่ๆคือ ท่านเชี่ยวชาญด้านว่านสารพัดชนิด เป็นศิษย์เอกหลวงพ่อโด่ วัดนามะตูม อ.พนัสนิคม และเป็นเกจิรุ่นน้องหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง
หลวงปู่เที่ยงเกิดเมื่อปีพ.ศ.2434 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่5 ที่หมู่บ้านหนองหญ้าปล้อง ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี มีชื่อและนามสกุลเดิมว่า "บุญเที่ยง ภู่ยิ้ม"
เมื่ออายุย่างเข้าวัยรุ่นโยมทั้งสองนำไปฝากให้เป็นเด็กวัดอยู่กับหลวงพ่อโด่ที่วัดนามะตูมศึกษาวิชาทางศาสนาและหัดอ่านเขียน ภาษาไทยอยู่ประมาณ 2 ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณรแล้วศึกษาวิชาอาคมต่างๆกับหลวงพ่อโด่ โดยหน้าที่ประจำที่ได้รับมอบหมายคือ การดูแลเลี้ยงว่านที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะหลวงพ่อโด่รักษาโรคด้วยยาสมุนไพรตำรับโบราณ
หลวงพ่อโด่สอนให้ทุกอย่างตั้งแต่การรดน้ำว่านก็ต้องภาวนาคาถากำกับ การเก็บว่านที่ได้อายุแล้วไว้ผสมยารักษาโรค และไว้ผสมผงพุทธคุณต่างๆเพื่อทำพระเครื่องให้บูชา ก็ต้องดูฤกษ์ยามวันข้างขึ้นหรือข้างแรม ซึ่งท่านทำหน้าที่นี้ได้อย่างดีเพราะมีใจรักและชอบอยู่แล้ว
ทุกวันหลังจากฉันเช้าแล้วก็รดน้ำว่าน หลังจากนั้นก็นำว่านที่เก็บมาแล้วออกผึ่งแดด แล้วเก็บก่อนเที่ยง จากนั้นเอาออกตากอีกประมาณบ่าย 3 โมง เก็บประมาณ 5 โมงเย็นและรดน้ำว่านอีกครั้งจนค่ำ โดยกิจวัตรที่หลวงพ่อโด่จัดให้เริ่มตั้งแต่ทำวัตรเช้าตี 4 ไปจนเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 3 ทุ่มทุกวันเป็นประจำ
ช่วงหนึ่ง หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ท่านได้มาฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชากับหลวงพ่อโด่ วัดนามะตูม ทำให้หลวงพ่อเที่ยงมีโอกาสได้รับคำแนะนำสั่งสอนและถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ อยู่ประมาณ2ปีแล้วกลับไปอยู่ระยอง โดยหลวงปู่ทิมได้ขอว่านต่างๆเพื่อนำไปใช้ในการสร้างพระ พร้อมกับมอบลูกอมผงพรายกุมารให้กับหลวงพ่อเที่ยงจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกอมที่ได้พบในเวลาต่อมา
หลวงพ่อเที่ยงอุปสมบทเมื่อปีพ.ศ.2455 ที่พัทธสีมาวัดหน้าพระธาตุ จ.ชลบุรี แล้วมาจำพรรษาที่วัดนามะตูมศึกษาอยู่กับหลวงพ่อโด่ เช่นเดิม และยังไปมากาสู่กับหลวงปู่ทิม เคยเอาว่านที้เลี้ยงไว้แบะตากแห้งแล้วไปถวาย บางครั้งหลวงปู่ทิมก็ให้ลูกศิษย์มาเอาว่านที่หลวงพ่อเที่ยงจัดไว้ให้เป็นการเฉพาะ
หลวงปู่ทิมเคยให้ลูกอมท่านมาหนึ่งบาตรสีดำกับผงพรายกุมารอีกหนึ่งปิ่นโต หลวงปู่ทิมทำผงพรายกุมารอยู่3ครั้ง ทุกครั้งหลวงพ่อเที่ยงจะมีส่วนถวายว่านให้แล้วได้รับส่วนแบ่งจากหลวงปู่ทิมทุกครั้ง ของที่ได้มาท่านไม่เคยนำออกจำหน่าย มีแจกทานไปบ้าง ที่เหลือเก็บใส่กรุไว้ใต้ฐานพระในวิหารที่ท่านนั่งทำวัตรสวดมนต์
ต่อมาหลวงพ่อเธียร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้เปิดกรุพระเก่า ซึ่งท่านนั่งปฏิบัติในโบสถ์เก่าเกิดนิมิตว่า มีพระรูปหนึ่งในนิมิตองค์โตใหญ่มากมาบอกว่า "เห็นอะไรใต้ดินไหม" เจ้าอาวาสก็ตอบว่า "ไม่เห็นอะไรเลย" หลวงพ่อองค์นั้นบอกว่า "ในนี้มีของมีค่าสำคัญ เอาไว้สร้างวัดและบำรุงพุทธศาสนา"
เมื่อเจ้าอาวาสออกจากนิมิตแล้ว ต่อมาได้ขุดดินในตำแหน่งที่หลวงพ่อองค์โตใหญ่บอกปรากฎว่า มีพระสมเด็จ, พระปิดตา, ลูกอม จำนวนมาก และได้ตั้งคณะกรรมตรวจสอบและพิสูจน์ได้ข้อมูลว่า พระสมเด็จและพระปิดตา เป็นของเจ้าคุณนรฯ และลูกอมเป็นของหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ โดยภายหลังได้ทราบว่า หลวงพ่อองค์โตใหญ่ในนิมิตนั้นก็คือ "หลวงพ่อเที่ยง" เจ้าอาวาสองค์ก่อน เป็นพระที่ชำนาญเรื่องว่านแห่งภาคตะวันออก
ทั้งนี้ ลูกอมพรายกุมาร กรุวัดสำนักขาม เป็นวัตถุมงคลของหลววปู่ทิมได้รับความนิยมสูงเช่นกัน และเป็นเมตตาของหลวงปู่เที่ยงที่มอบให้ญาติโยมอย่างแท้จริง โดยที่เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้พบกระดาษข้อความดำริของหลวงปู่ กล่าวคือ มีกระดาษหนึ่งแผ่น วางไว้บนลูกอม เขียนด้วยลายมือหลวงพ่อเที่ยง เจ้าอาวาสองค์ก่อน ท่านเขียนไว้ว่า "ลูกอมให้แจก ห้ามจำหน่าย"
เมื่อหลวงพ่อเธียรท่านได้อ่านก็หยิบกระดาษมาขยำทิ้ง เพราะกระดาษเหลืองและกรอบไปตามอายุ และคิดในใจว่า ลูกอมหากนำไปแจก ทางวัดก็จะไม่มีรายได้ น่าจะนำออกให้บูชาเพื่อหาเงินมาสร้างโบสถ์ พอช่วงระหว่างที่ท่านกำลังนอนจำวัด ท่านก็เห็นมีร่างดำใหญ่มาถีบท่านจนตกเตียงนอน ท่านจึงไม่กล้าจำหน่ายลูกอม จึงนำมาแจกให้กับผู้ที่ร่วมทำบุญทั้งชุดพระกรุจำนวน 3 องค์ และเฉพาะลูกอมในส่วนที่เหลือ
ทั้งนี้ มีหลักฐานปรากฏว่า หลวงพ่อเที่ยงเคยรักษาการเจ้าอาวาสวัดหนองยาง อ.บ้านบึง ซึ่งเป็น1ใน3วัดที่หลวงพ่อโด่ท่านสร้างไว้ (อีก2 วัดคือ วัดเนินหลังเต่า และวัดทุ่งเหียง) แต่ด้วยท่านชอบความสงบจึงปลีกวิเวกมาสร้างสถานปฏิบัติธรรมที่บ้านสำนักขาม ซึ่งอยู่ห่างออกมาประมาณ3ก.ม. โดยได้พัฒนาจนได้รับการยกฐานะเป็นวัด และท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก







Comments