"หลวงพ่อปาน โสนันโท"วัดบางนมโคอยุธยา
อดีตเกจินักพัฒนา/พระหมอยาแห่งกรุงเก่า
เจ้าตำรับพระพิมพ์ประทับสัตว์มงคล เนื้อดิน
สร้างวัดกว่า40แห่งโดยไม่ใช้งบฯแผ่นดิน
ถ้านึกถึงพระพิมพ์ทรงสัตว์มงคล เนื้อดินเผา แน่นอนว่า นักนิยมสะสมพระเครื่องต้องนึกถึง พระของ"หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค" เป็นอันดับต้นๆ เพราะได่รับความนิยมสูง มีพุทธคุณสูง และมีราคาสูงไม่ตก อีกทั้งเป็นต้นแบบให้วัดต่างๆนำไปจัดสร้างย้อนยุคออกมาหลายรุ่น บางรุ่นแม้จะสร้างหลังจากท่านมรณภาพแล้ว แต่ก็ได้รับความนิยมเล่นหา และมีประสบการณ์ความเข้มขลังให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
อย่างเช่น ล่าสุด พระภาวนาธรรมาภิรักษ์ วิ. หรือ "หลวงพ่อเจ้าคุณรักษ์ อนาลโย" พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดสุทธาวาส วิปัสสนา อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรี อยุธยา ท่านได้จัดสร้างพระปางประทับสัตว์มงคล ย้อนยุค 6 พิมพ์ รุ่น "ตำนานอโยธยา" ซึ่งย้อนตำนานพระ 6 พิมพ์ ได้แก่ นก ทำนา, ไก่ หากิน, เม่น เดินป่า, ปลา ค้าขาย, ครุฑ อำนาจ, หนุมาน ราชการ โดยประกอบพิธีที่1 บวงสรวงขอบารมีหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ไปเมื่อเร็วๆนี้
ในโอกาสนี้ ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์"คัมภีร์นิวส์"จึงขอย้อนตำนานชีวิตและพระเครื่องของหลวงพ่อปานมานำเสนอเป็นวิทยาทานอีกครั้ง
หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ทรงอภิญญารูปหนึ่ง แม้ว่าจะมรณภาพไปนานแล้วก็ตาม ชื่อเสียงของท่าน ยิ่งเป็นที่รู้จัก ในบรรดานักสะสมพระเครื่องทั้งหลาย และการสร้างพระของท่านก็ไม่เหมือนกับวัดอื่น คือท่านมักจะสร้างเป็นรูปพระพุทธเจ้าอยู่เหนือสัตว์พาหนะอันมี ครุฑ หนุมาน เม่น ไก่ นก และปลา เป็นต้น
พระครูวิหารกิจจานุการ หรือ"หลวงพ่อปาน โสนันโท" เป็นอดีตเจ้าอาวาสรูปที่3 วัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่างปี พ.ศ. 2478 จนถึงปี พ.ศ. 2481 ท่านเกิดในสกุล"สุทธาวงศ์" เมื่อวันศุกร์ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2418 ที่บ้านบางนมโค โยมบิดาชื่อ"อาจ" โยมมารดาชื่อ"อิ่ม"
สาเหตุที่ได้ชื่อว่า"ปาน"เพราะท่านมีสัญลักษณ์คือ มีปานแดงที่นิ้วก้อยมือซ้ายตั้งแต่โคนนิ้วถึงปลายนิ้ว
ต่อมาปีพ.ศ.2439 ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดบางปลาหมอ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2438 ตรงกับวันจันทร์ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 ปีมะแม โดยมีหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อ.บางบาล เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อจ้อย วัดบ้านแพน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์อุ่ม วัดสุธาโภชน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาในเพศบรรพชิตว่า “โสนันโท”
หลังบวชท่านได้ศึกษาวิชาอาคมและปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงพ่อสุ่นพอสมควรแล้ว จึงเดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดสระเกศ กรุงเทพฯ และอาจารย์จีนวัดเจ้าเจ็ดในจ.พระนครศรีอยุธยา เรียนแพทย์แผนโบราณจากวัดสังเวชวิศยาราม บางลำพู แล้วมาศึกษาเพิ่มเติมกับ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย และ หลวงพ่อโหน่ง อดีตเจ้าอาวาสวัดคลองมะดัน, เรียนวิชาสร้างพระเครื่องดินเผาจากชีปะขาว เรียนการปลุกเสกพระเครื่องและเป่ายันต์เกราะเพชรจาก"อาจารย์แจง" สวรรคโลก ได้รับพระคาถาปัจเจกโพธิสัตว์มาจากครูผึ้ง อยุธยา
หลังจากนั้นท่านจึงมาอยู่ที่วัดบางนมโคและได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระครูวิหารกิจจานุการ" กิจวัตรของท่านก็คือหลังจากฉันภัตตาหารเพลแล้ว ท่านก็จะมาสงเคราะห์ชาวบ้านตลอดทั้งวัน และการทำน้ำมนต์เพื่อรักษาคนไข้ รวมทั้งผู้ที่ถูกกระทำคุณไสยด้วย รวมถึงการรักษาชาวบ้านด้วยวิธีการของท่าน ไม่ว่าจะงูกัด ตะขาบกัด แมลงป่องต่อย ปลากะเบนยอก ต่อ-แตนต่อย โดยการอาราธนาจากพระเครื่องของท่าน เป็นต้น ท่านรักษาให้ชาวบ้านมาตลอด จนได้รับอีกฉายาว่า “พระหมอ”
หลวงพ่อปานท่านเป็นพระนักพัฒนาอีกองค์หนึ่งซึ่งได้บูรณะและสร้างวัดทั้งในพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียงรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 40 วัด ตามหลักฐานที่มีอยู่ และคำบอกเล่า โดยที่ท่านไม่ได้ใช้งบประมาณของแผ่นดินแต่อย่างใด
วาระสุดท้ายหลวงพ่อปานละสังขารเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ตรงกับรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สิริอายุ 63 ปี บวชพระมาได้ 42 พรรษา
สำหรับวัดบางนมโคนั้น เป็นวัดเก่าแก่โบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยใด ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย แต่เดิมบริเวณนี้ประชาชนเลี้ยงวัวกันเป็นจำนวนมาก จึงเรียกกันว่า “บางนมโค” ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯวัดบางนมโคเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อพ.ศ. 2509 ได้ทรงกล่าวชมว่า "หลวงพ่อปานเป็นพระนักพัฒนา"
วัตถุมงคลที่ขึ้นชื่อลือเลื่องของหลวงพ่อปาน เป็นที่เสาะแสวงหาของสาธุชนทุกรูปนาม ได้แก่ พระพิมพ์เนื้อดิน รูปสี่เหลี่ยมมุมตัด เป็นรูปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับนั่งบนบัลลังก์บัวตุ่ม เหนือสรรพสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น ไก่ ครุฑ หนุมาน นก เม่น ปลา
ระยะแรกที่จัดสร้างเรียกกันว่า “พิมพ์โบราณ” ส่วน “พิมพ์มาตรฐาน” นั้นนำออกแจกจ่ายใน พ.ศ. 2460 ซึ่งได้รับความนิยมเสาะแสวงหาด้วยปรากฏความศักดิ์สิทธิ์ทางด้านรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ความแคล้วคลาดจากภยันตรายตลอดจนความเป็นสิริมงคล สมปรารถนาแก่ผู้อธิษฐานติดตัว
อุปเท่ห์การใช้และพุทธคุณ ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา แต่ละพิมพ์ทรงมีคติความเชื่อดังนี้
1.พิมพ์ทรงไก่ มีดีทางการทำมาค้าขาย และเมตตามหานิยม โดยคนโบราณสังเกตจากพฤติกรรมของไก่มาประกอบ เปรียบเทียบไก่ฝูงหนึ่ง มักมีตัวผู้เป็นจ่าฝูงเพียงตัวเดียว แต่มีตัวเมียล้อมรอบนับสิบ
2.พิมพ์ทรงครุฑ มีดีทางอำนาจราชศักดิ์เหมาะสำหรับข้าราชการชั้นเจ้านาย 3.พิมพ์หนุมาน ดีทางด้านการปกครอง แคล้วคลาด คงกระพัน เหมาะสำหรับข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ตลอดจนผู้มีอาชีพรับจ้างต่างๆทั่วไป
4.พิมพ์ทรงเม่น ดีทางเกษตรกรรม ทำสวน ทำนา หรือนักค้าที่ดิน นักเดินทางช่วยคุ้มครองป้องกันภัย 5.พิมพ์ทรงปลา โบราณว่า ค้าขายทางน้ำช่วยได้จริง
6.พิมพ์นก เสริมความสำเร็จให้คนมีอาชีพทางการสื่อสาร นักพูด นักแสดง นักกฎหมาย นักการทูต และพ่อค้าที่จำเป็นต้องเดินทางค้าขายอยู่เป็นนิตย์
Comments