"หลวงพ่อรักษ์ อนาลโย"วัดสุทธาวาสฯ
เกจินักปฏิบัติ/นักพัฒนาเมืองกรุงเก่า
เจ้าตำรับ"ตะกรุดมหาบารมี 30 ทัศ"
ศิษย์พุทธาคมหลวงปู่หงษ์ วัดเพชรบุรี
ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ร่วมเผยแพร่ประวัติเกียรติคุณของพระดีเกจิดังแห่งเมืองกรุงเก่า...พระภาวนาธรรมาภิรักษ์ วิ. หรือ"หลวงพ่อรักษ์ อนาลโย" อายุ 50 ปี นักธรรมชั้นเอก พระวิปัสสนาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุทธาวาส วิปัสสนา สำนักปฎิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แห่งที่ 13 ผู้สืบทอดพุทธาคมจากอดีตเกจิดังหลายองค์ หนึ่งในนั้นคือ "หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ "วัดเพชรบุรี จ.สุรินทร์
ชาติภูมิท่านเป็นชาวแปดริ้ว เกิดวันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2515 ปีชวด ที่บ้านเลขที่ 103/1 หมู่ที่ 4 ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิง เทรา ครอบครัวประกอบอาชีพเลี้ยงปลาสลิด โยมบิดาชื่อ นายสำราญ โยมมารดาชื่อ นางนวล นาทสกุล"จูนิยม" มีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด 3 คน
ในช่วงวัยเด็กชอบเข้าวัดทำบุญโดยจะไปกับคุณยายทุกวันพระ รวมทั้งยังมีอุปนิสัยชอบพูดคุยกับพระเณร ชอบศึกษาเขียนอักขระขอมและเลขยันต์ต่างๆ ท่านได้รับการศึกษาจากโรงเรียน หลวงพ่อปาน คลองด่านอนุสรณ์ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ สำเร็จการศึกษามัธยมปีที่ 3 เมื่ออายุ 19 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดแจ่มราษฎร์ ศรัทธาธรรม จ.สมุทรปราการ โดยมี หลวงพ่อสะอาด (ศิษย์สาย หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย) เป็นพระอุปัฌาย์ ท่านได้ปฏิบัติรับใช้ หลวงพ่อสะอาด และศึกษาธรรมต่างๆ ทั้งรวมกรรมฐาน จากพระอุปัชฌาย์ ซึ่งต่อมาได้ลาสิกขามาช่วยโยมบิดามารดาประกอบอาชีพทางบ้าน
ต่อมาได้อุปสมบท เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2542 ณ วัดหลักชัย ต.หลักชัย อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี พระครูสิริธรรมทัต (หลวงพ่อสุมิตร) เจ้าอาวาสวัดหลักชัย เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูโฆษิตวิหารคุณ วัดตรีพาราสีมาเขต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูเกษมปทุมรักษ์ วัดลาดปทุมคงคาราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "อนาลโย"หมายถึง "ผู้ไม่มีอาลัย"
เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดหลักชัย คอยอุปัฏฐากรับใช้พระอุปัชฌาย์ จนกระทั่งท่านมรณภาพลง ระหว่างนั้นก็ได้ศึกษาพระปริยัติธรรม ปฏิบัติสมถะกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานอยู่เนืองนิตย์ และสามารถศึกษาสอบนักธรรมชั้น ตรี – โท – เอก ได้อย่างเจนจบ และที่น่าอัศจรรย์ หลวงพ่อรักษ์ สามารถท่องจำพระปาฎิโมกข์ได้อย่างแม่นยำ ในขณะที่ท่านยังเป็นศิษย์วัดอยู่
เมื่ออุปสมบทได้ 4 พรรษา เจ้าอาวาสวัดสุทธาวาส มรณภาพลง เจ้าคณะตำบลลาดบัวหลวงจึงส่งท่านมารักษาการเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2545 และได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาสวัดสุทธาวาส เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2547 ได้พัฒนาวัดและสอน การปฎิบัติกรรมฐานตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้
หลวงพ่อรักษ์ ท่านเป็นพระภิกษุผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย อุปนิสัยรักความสงบ ชอบปฏิบัติกรรมฐาน รวมทั้งชอบศึกษากรรมฐาน และพระไตรปิฎก รวมทั้งไสยเวทย์ต่างๆ
ท่านมีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติสมถะกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ท่านได้พัฒนาวัดสุทธาวาสจากเดิมที่เป็นวัดธรรมดาทั่วไป จนเป็นที่รู้จักแก่สาธุชน ว่า “วัดสุทธาวาส วิปัสสนา” เป็นสำนักปฎิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แห่งที่ 13 (วัดที่เป็นสำนักปฏิบัติธรรมนี้ มีดีกรีเทียบเท่ากับพระอารามหลวงชั้นตรี) ผลงานและสิ่งที่ หลวงพ่อรักษ์ ตั้งใจทำมาตลอดคือ งานด้านการเผยแผ่หลักธรรม คำสอนขององค์ สมเด็จพระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้า ในรูปแบบของการปฏิบัติสมถะกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน
หลวงพ่อรักษ์ อนาลโย ได้ถวายตัวเป็นศิษย์ และเรียนพระคาถาพุทธาคมจากพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายท่าน ซึ่งหลวงพ่อแต่ละองค์นั้นได้ประสิทธิ์ประสาทพุทธาคม และมอบเหล็กจารของท่านให้กับหลวงพ่อรักษ์ ไว้บูชาและใช้ในพิธีพุทธาภิเษกต่างๆ
หลวงปู่ทิม วัดพระขาว สอนกรรมฐาน ทำน้ำมนต์ วิชาบารมีสิบทัศ สอนเขียนพระยันต์ประจำตัว ใช้ทำผงพระและทำแผ่นชนวนโลหะ,หลวงปู่เยื่อ วัดใหม่หญ้าไทร,หลวงพ่อเพิ่ม วัดป้อมแก้ว,หลวงพ่อรวย วัดตะโก สอนเขียนยันต์ตรีนิสิงเห สอนกรรมฐาน สอนเขียนพระยันต์ประจำตัว ใช้ทำผงพระและทำแผ่นชนวนโลหะ
หลวงพ่อเอียด วัดไผ่ล้อม สอนกรรมฐาน สอนเขียนอักขระขอม เมตตามหาอุด หัวใจตัวเฑาะก์ วิชาคงกระพันและเมตตามหานิยม สอนเขียนพระยันต์ประจำตัว ใช้ทำผงพระและทำแผ่นชนวนโลหะ,หลวงพ่อเขียน วัดกะทิง สอนกรรมฐาน วิชาเรียกลาภ หัวใจมนุษย์ หัวใจกระทิง สอนเขียนพระยันต์ประจำตัว ใช้ทำผงพระและทำแผ่นชนวนโลหะ
หลวงปู่หงษ์ วัดเพชรบุรี ถ่ายทอดวิชาปลุกเสกวัตถุมงคลทางพลังจิต สอนวิชาจารตะกรุดโทน ตะกรุดชุด 12 ดอก กันปืน กันช้าง กันเสือ กันปืนใหญ่,หลวงพ่อเพี้ยน วัดเกริ่นกฐิน สอนกรรมฐาน ทำน้ำมนต์หัวใจแคล้วคลาด หัวใจพระเวทย์คาถาต่างๆ สอนเขียนพระยันต์ประจำตัว ใช้ทำผงพระและทำแผ่นชนวนโลหะ,หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่
สอนกรรมฐาน และอิติปิโสถอยหลัง (แก้เคล็ดกลับร้ายกลายเป็นดี) สอนเขียนพระยันต์ประจำตัว ใช้ทำผงพระและทำแผ่นชนวนโลหะ ,หลวงปู่แย้ม วัดสามง่าม
สอนกรรมฐาน นะเมตตา คาถาอุดปืน สอนเขียนพระยันต์ประจำตัว ใช้ทำผงพระและทำแผ่นชนวนโลหะ
ครูบาน้อย วัดศรีดอนมูล สอนเขียนอักขระล้านนา (ยันต์พระเจ้า 5 พระองค์) วิชาบารมี 7 ชั้น (ตำรับครูบาศรีวิชัย) หลวงปู่เจือ วัดกลางบางแก้ว สอนกรรมฐาน สอนวิธีทำเบี้ยแก้ ตำหรับวัดกลางบางแก้ว สอนเขียนพระยันต์ประจำตัว ใช้ทำผงพระและทำแผ่นชนวนโลหะ ,ครูบาชุ่ม จ.เชียงราย สอนหัวใจนะมหาจังงัง สอนเขียนพระยันต์ประจำตัว ใช้ทำผงพระและทำแผ่นชนวนโลหะ ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่ลูกศิษย์ หลวงพ่อเอื้อน วัดวังแดงใต้ ฯลฯ
การสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ ของ หลวงพ่อรักษ์ ท่านได้เริ่มสร้างเป็นพระผงขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อตอนท่านอายุ 30 ปี โดยท่านได้นำวิชาความรู้ต่างๆ ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา โดยเริ่มเขียนยันต์ ลงผงอิทธิเจ และผงยันต์ต่างๆ รวมทั้งหามวลสาร เช่น ผงเกษรดอกไม้บูชาพระ, ดอกไม้บูชาครูอาจารย์, ผงธูป, ผงพระเครื่องหักต่างๆ, ผงว่าน นำมาผสมทำวัตถุมงคล และทำพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกมวลสารเป็นปฐมฤกษ์ก่อนปั้มพระ และเมื่อสร้างเป็นองค์พระเครื่องเรียบร้อยแล้ว ก็นำมาปลุกเสกไตรมาสอีก 3 เดือน
วัตถุมงคลของหลวงพ่อรักษ์ มีหลายรูปแบบ พระสมเด็จ พระปิดตา พระกริ่ง กำไล ตะกรุด พญาหนุมาน พญาคชสีห์ กระทิง เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อหาทุนทรัพย์สร้างและพัฒนาวัดสุทธาวาส วิปัสสนา เป็นลำดับ หลวงพ่อรักษ์ ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของตะกรุดจารมือรุ่นต่างๆ สำหรับตะกรุดที่โดดเด่นมีประสบการณ์สูงของท่าน คือ “ตะกรุดมหาบารมี 30 ทัศ” ซึ่งศิษยานุศิษย์และสาธุชนต่างขนานนามท่านว่า “หลวงพ่อรักษ์ อนาลโย เจ้าตำรับตะกรุดมหาบารมี 30 ทัศ แห่งทุ่งลาดบัวหลวง เมืองกรุงศรีอยุธยา”
ทั้งนี้ ท่านมักจะปลุกเสกด้วยพุทธาคมที่ท่านร่ำเรียนมาอย่างเต็มพลัง หลักการอธิษฐานจิตของท่านนั้นจะเน้นไปทาง เมตตามหาเสน่ห์ – โชคลาภ เงินทอง – ความสำเร็จ – กันคุณไสยต่างๆ และด้านแคล้วคลาดกันภัยคงกระพัน เป็นเลิศ การทำวัตถุมงคลของ หลวงพ่อรักษ์ นั้น ท่านมีหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัย 4 ประการสำคัญคือ 1.ดูที่เจตนา ถ้าวัตถุประสงค์ดี วัตถุมงคลจึงจะดี 2.พิธีกรรม ถูกต้องตามโบราณกาลหรือไม่ 3. มวลสารดี 4.ดูฤกษ์ผานาทีว่าเหมาะสมหรือไม่
หลวงพ่อรักษ์ ท่านสร้างวัตถุมงคลเพื่อสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวย้ำเสมอว่า… การทำวัตถุมงคลต้องตั้งใจทำ ให้ผู้นำไปใช้ได้รับพุทธคุณครอบจักรวาล… วัตถุมงคลทำไว้มอบให้กับญาติโยมที่บริจาคสมทบทุนสร้างวัด ไม่ได้ทำเพื่อซื้อขาย เป็นที่ระลึกว่าใครได้ไปสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างถาวรวัตถุ ถวายไว้ในพระพุทธศาสนามาเท่านั้น!
Comments