"หลวงพ่อเณร ญาณวินโย"วัดทุ่งเศรษฐี กทม.
เกจินักพัฒนาสายวิชาครูบาอาจารย์ชื่อดัง
ผู้สืบสานวิชายันต์เกราะเพชรตำรับ“ปู่ปาน”
ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ขอนำเสนอประวัติพระราชพัฒนโสภณ หรือ"หลวงพ่อเณร ญาณวินโย" เจ้าอาวาสวัดทุ่งเศรษฐี (ราม ๒)ถนนบางนา-ตราด ก.ม. ๘ แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กรุงเทพฯ หนึ่งในพระเกจินักพัฒนาและมีความสามารถทางวิทยาคมที่โด่งดังระดับแนวหน้าของเมืองกรุง โดยสืบสานวิชาตำรับหลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว,หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา,หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค(ยันต์เกราะเพชร) วิชาสายเหนือ สายเขาอ้อ สายลาว สายพม่า สายเขมร อีกทั้งได้รับการถ่ายทอดพุทธาคมจากอดีตเกจิดังหลายองค์ อาทิ หลวงพ่อทับ วัดสลุด,หลวงปู่คำมี วัดถ้ำคูหาสวรรค์,หลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม,หลวงพ่อบุญมี วัดเขาสมอคอน,หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงปู่หน่าย วัดบ้านแจ้ง,หลวงปู่คร่ำ วัดวังหว้า ฯลฯ
ท่านมีนามเดิมว่า "วินัย" นามสกุล "โพธิ์สุข"
เกิดวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๐๕ (ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๕) ที่บ้านเลขที่ ๒๘ หมู่ ๗ แขวงดอกไม้ เขตประเวศ(จากเดิมเขตพระโขนง) กรุงเทพฯ
บิดาชื่อ นายบุญมา มารดาชื่อ นางสมนึก
วัยเยาว์ท่านได้อยู่ที่วัดสลุด อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ กับพระครูสมุทรสิริวัฒน์ หรือ"หลวงพ่อทับ" เจ้าอาวาส ซึ่งเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว (อุปัชฌาย์ของหลวงปู่เผือกคือ หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา) โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาจากหลวงพ่อทับ จนกระทั่งได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยตำราเก่าของหลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว รวมถึงตำราของหลวงปู่ทอง วัดราชโยธา ได้ตกทอดมาถึงหลวงพ่อเณร
เมื่ออายุ ๑๖ปีจึงเข้าบรรพชา เมื่อวันที่ ๑๓ มี.ค. ๒๕๒๑ โดยมีหลวงพ่อทับ วัดสลุด เป็นพระอุปัชฌาย์ เพียงปีแรกก็ออกเดินธุดงค์แสวงหาความรู้และเดินทางหาครูบาอาจารย์ ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ท่านได้ธุดงค์ไปที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทย ลาว พม่า เขมร เพื่อศึกษาหาวิชาความรู้ด้านต่างๆ เมื่อกลับจากธุดงค์แล้วท่านได้ใช้วิชาเพื่อสงเคราะห์สานุศิษย์และญาติโยมผู้ทุกข์ร้อนด้วยสาเหตุนานาประการ กิตติศัพท์ของท่าน
ก็เริ่มร่ำลือแผ่ขยายออกสู่ภายนอกกว้างออกไปทุกที จนกลายเป็นครูบาอาจารย์ของบุคคลทั้งหลาย ทั้งที่ยังเป็นเพียงสามเณร คนทั้งหลายที่ศรัทธาจึงพากันยกย่องและเรียกท่านว่า “หลวงพ่อเณร”
เมื่ออายุ ๒๐ ปีได้เข้าอุปสมบทณ วัดสลุด อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อ วันที่ ๖ ก.พ. ๒๕๒๕ โดยมีพระธรรมวโรดม (ต่อมาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิท เขมจารี) เจ้าคณะภาค ๑ เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา แขวงสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสมุทรสิริวัฒน์ (หลวงพ่อทับ) วัดสลุด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระรัตนเมธี (ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระเทพวิริยาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลวงปู่คำมี วัดถ้ำคูหาสวรรค์ จ.ลพบุรี ผู้ที่เป็นทั้งอาจารย์และเป็นผู้ที่ดูฤกษ์บวชให้
หลวงพ่อเณร และพระที่นั่งอันดับในงานบวชล้วนเป็นเกจิอาจารย์ดับในยุคนั้นทั้งสิ้น ซึ่งหลวงพ่อเณรก็ได้ศึกษาศาสตร์ต่างๆจากเกจิอาจารย์เหล่านั้นด้วย พอบวชได้เพียง ๑ ปีก็มีลูกศิษย์สร้างเหรียญถวาย ซึ่งถือว่าเป็นเหรียญรุ่นแรกของท่าน
ต่อมา"ครูแสวง พัตบุญมา" ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้มีจิตศรัทธาเป็นมหากุศล ได้บริจาคที่นาของตนให้เป็นที่ตั้งวัด ช่วงแรกยกให้จำนวน 10 ไร่ก่อนจนปี 2528 ได้ทั้งหมด 18 ไร่กว่า เนื่องจากบริเวณสถานที่ตั้งวัดเป็นที่นาที่อุดมสมบูรณ์มาก จึงเป็นที่มาของชื่อ"ทุ่งเศรษฐี"
เมื่อได้ถวายที่ให้ตั้งวัดแล้ว สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิท เขมจารีมหาเถร) ให้หลวงพ่อเณร ซึ่งพึ่งบวชได้เพียง 1 พรรษา ให้เตรียมตัวเพื่อตั้งวัดทุ่งเศรษฐี แต่เนื่องจากเป็นที่นาเก่าจึงต้องถมดิน โดยครูแสวงได้ยกดินในที่ของท่านให้หลวงพ่อเณรเอาไปถมวัดอีกด้วย มีคนช่วยเรื่องเครื่องจักรแต่ขาดค่าน้ำมัน 300,000 บาท จึงต้องหาเงินทุนมาใช้
ในช่วงนั้น หลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการามทราบว่า หลวงพ่อเณรจะตั้งวัด ท่านจึงมาช่วยที่งานประจำปีตลอดงานทุกวัน หลวงพ่ออุตตมะได้ถ่ายทอดวิชาการทำลูกประคำแบบเต็มสูตรของท่านให้กับหลวงพ่อเณร ในงานนี้อีทั้งให้คนทำสร้อยประคำมาจำหน่ายที่วัดสลุด เพื่อหาเงินทุนค่าน้ำมันให้ด้วย มีที่เป็นไม้ และสีขาวที่เป็นงาช้างกับกระดูกช้าง ทั้งนี้ หลวงพ่อเณรท่านได้ไปเรียนวิชากับหลวงพ่ออุตตมะ ตั้งแต่ช่วงที่เป็นเณรที่ท่านออกจากวัดสลุดไปธุดงค์และได้สอนมาเรื่อยจนถึงปี 2526
สมณศักดิ์ ปี ๒๕๓๒ เป็น พระครูปลัดสัมพิพัฒนธีราจารย์ พระครูปลัดฐานานุกรม ในสมเด็จพระธีรญาณมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค ๑ เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ ปี ๒๕๔๘ โปรดเกล้าฯ พระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ “พระพิศาลพัฒนาทร” ปี ๒๕๕๓ โปรดเกล้าฯพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ “พระราชพัฒนโสภณ"
วิทยฐานะ สอบได้นักธรรมเอก สำนักเรียนวัดสลุด,ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง,ได้รับปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ในด้านวิทยาคม หลวงพ่อเณรท่านได้สืบสานวิชายันต์เกราะเพชรตำรับ “หลวงปู่ปาน วัดบางนมโค” จาก “หลวงพ่อฤาษีลิงขาว (หลวงพ่อช่อ อภินันโท) วัดฤกษ์บุญมี” ศิษย์เอกหลวงปู่ปานอีกรูปหนึ่ง จากการแนะนำของสมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิท เขมจารี) พระอุปัชฌาย์
นอกจากนี้ หลวงพ่อเณรได้ศึกษาวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์ต่างๆโดยตรง ด้วยตัวท่านเอง อาทิ หลวงปู่คำมี วัดถ้ำคูหาสวรรค์ จ.ลพบุรี, หลวงพ่อบุญมี วัดเขาสมอคอน จ.ลพบุรี,หลวงพ่อเกษม สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง,หลวงปู่คำแสน วัดป่าดอนมูล จ.เชียงใหม่, หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่,ครูบาหมวก (ศิษย์ครูบาศรีวิชัย) วัดดอนชัย จ.เชียงใหม่,หลวงพ่อบุญเย็น (หลวงพ่อประกาศิต) สำนักพระเจ้าพรหมมหาราช จ.เชียงใหม่
หลวงปู่อิน วัดลาดท่าใหม่ จ.จันทบุรี หรือหลวงพ่ออินเทวดา (ศิษย์หลวงปู่จัน วัดนางหนู และ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า) หลวงพ่อคง วัดวังสรรพรส จ.จันทบุรี, หลวงปู่คร่ำ วัดวังหว้า จ.ระยอง,หลวงปู่ชื่น วัดมาบข่า จ.ระยอง,หลวงปู่นิด วัดทับมา จ.ระยอง,หลวงพ่อช่วย วัดไตรมุก จ.ชลบุรี (ศิษย์หลวงปู่ปาน วัดบางเหี้ย) หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี, หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี จ.กรุงเทพฯ หลวงพ่ออุตตมะ วัดวังวิเวการาม จ.กาญจนบุรี,พระปลัดใบ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม (ศิษย์เอกหลวงปู่เพิ่ม) หลวงปู่หน่าย วัดบ้านแจ้ง จ.อยุธยา,หลวงพ่อเมี้ยน วัดโพธิ์กบเจา จ.อยุธยา
หลวงปู่พรหมมา วัดสวนหินผานางคอย จ.อุบลราชธานี,หลวงปู่เคน วัดแซ่อุดมสุข จ.อุบลราชธานี,หลวงปู่ชื่น วัดตาอี จ.บุรีรัมย์,หลวงปู่ฤทธิ์ วัดชลประทานราชดำริ จ.บุรีรัมย์, หลวงปู่ผูก วัดเกาะ จ.เพชรบุรี (ศิษย์หลวงพ่อมี วัดพระทรง)
หลวงพ่อเปล่ง วัดวังไคร้ จ.เพชรบุรี (ศิษย์หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง จ.เพชรบุรี)
,หลวงพ่อสุด วัดกาหลง จ.สมุทรสาคร,หลวงพ่อทองอยู่ วัดใหม่หนองพะอง จ.สมุทรสาคร
หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาณมิตร กรุงเทพฯ,หลวงพ่อสนิท วัดบางวัว จ.ฉะเชิงเทรา (ศิษย์หลวงพ่อดิ่ง) หลวงพ่อจ้อย วัดหนองน้ำเขียว จ.ชลบุรี, สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (จวน นาถ) สมเด็จสังฆราช ประเทศเขมร,หลวงพ่อท่านเลิบ ฐิตสทฺโธ วัดทองตุ่มน้อย จ.ชุมพร (ศิษย์เขาอ้อ) ฯลฯ
กล่าวได้ว่า หลวงพ่อเณรท่านคือขุมคลังแห่งศาสตร์วิชาความรู้เก่าแก่ อาจเป็นเพราะอำนาจบุญบารมีที่ท่านสั่งสมมา จึงได้รับความเมตตาจากครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของคนทั้งหลาย จนสามารถตั้งวัดพัฒนาจากแผ่นดินกลางนามาเป็นวัดทุ่งเศรษฐี (ราม 2) ดังที่เห็นในปัจจุบัน
ในด้านวัตถุมงคลท่านสร้างออกมาเยอะทั้งพระเครื่องและเครื่องรางต่างๆ โดยแบ่งเป็นช่วงที่ 1สมัยเป็นสามเณร 2521-2525 อยู่วัดสลุด ช่วงที่ 2 เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ 2525 - 2527 ยังจำพรรษาอยู่วัดสลุด ช่วงที่ 3 หลังย้ายมาตั้งสำนักสงฆ์ทุ่งเศรษฐี (ระหว่างการขออนุญาตจัดตั้งวัด) 2527 -2528 ช่วงที่ 4 ได้วิสุงคามสีมา เป็นวัดทุ่งเศรษฐี โดยสมบูรณ์ ปี2529 เป็นต้นไป
Comentários