"หลวงพ่อเพี้ยน อัคคธัมโม” เกจิดังวัดเกริ่นกฐิน ลพบุรี เจ้าตำรับผ้ายันต์แดง-ตะกรุดโทน
ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ นำเสนอตามคำเรียกร้อง หนึ่งในตำนานยอดพระเกจิแห่งเมืองลิง...“พระครูวิมลสมณวัตร” หรือ" หลวงพ่อเพี้ยน อัคคธัมโม อดีตเจ้าาวาสวัดเกริ่นกฐิน อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เจ้าตำรับเครื่องรางของขลังอย่างผ้ายันต์แดง-ตะกรุดโทน อันเลื่องชื่อทางประสบการณ์ แคล้วคลาดปลอดภัยนิรันตราย
ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ปีขาล ที่บ้านเกริ่นกฐิน ต.บ้านชี อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เป็นบุตรคนที่2ในจำนวนพี่น้อง 7 คนของนายเตาะและนางเล็ก นามสกุล"ยอดวัน" การศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดท้องคุ้ง
ท่านเข้าอุปสมบทเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2519 ที่วัดกำแพง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี มีหลวงพ่อเจือ เจ้าอาวาสวัดกำแพง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "อัคคธัมโม" ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้มีธรรมอันเป็นเลิศ" จากนั้นได้ย้ายไปอยู่วัดเกริ่นกฐิน เพื่อศึกษาทางธรรมและได้ร่ำเรียนวิชาจาก "หลวงพ่อปาน"เจ้าอาวาสวัดเกริ่นกฐิน ในสมัยนั้น ไม่เพียงเท่านั้น ท่านยังใช้เวลาที่อยู่ในสมณเพศ ทบทวนสรรพวิชา ที่ได้จากบิดาซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิชาจากดินแดนกัมพูชา
สาเหตุที่ท่าน ย้ายมาจำอยู่วัดเกริ่นกฐินนั้น ด้วยความตั้งใจที่จะมาเรียนวิชากับหลวงพ่อปาน และอาจารย์ของท่านก็ได้กำชับไว้อย่างหนักแน่นว่า สิ่งที่ควรทำนั้นก็คือ การเจริญภาวนา ทำจิตใจให้มั่นคง จนเป็นสมาธิ มาถึงในปี 2521 ที่วัดเกริ่นกฐิน ไม่มีเจ้าอาวาสปกครอง ชาวบ้านญาติโยมจึงเข้าร้องขอต่อพระผู้ใหญ่ให้มีการแต่งตั้งหลวงพ่อเพี้ยน เป็นเจ้าอาวาส
ระหว่างพรรษาที่3 ท่านได้รับกิจนิมนต์ เดินทางไปที่อ.ท่าวุ้ง ท่านได้เดินทางผ่านทุ่งนา ในช่วงที่เป็นป่าละเมาะรกชัฏ ได้พบเห็นการกระทำอย่างหนึ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น มีโจรดักปล้นชาวบ้าน แต่ชาวบ้านที่เป็นเจ้าทรัพย์นั้นต่อสู้ จึงถูกคนร้ายแทงตายต่อหน้าท่าน เมื่อท่านเดินทางกลับมาถึงวัด จึงเกิดความเวทนาต่อชาวบ้านผู้เคราะห์ร้ายคนนั้น และได้ทบทวนไปว่า หากชาวบ้านคนนั้น มีวัตถุมงคลคุ้มครองป้องกันตัว อาจจะเกิดความแคล้วคลาดจากภยันอันตรายทั้งปวงก็เป็นได้
ดังนั้น หลวงพ่อเพี้ยนจึงตั้งใจทบทวนศึกษาตำราเล่าเรียนทั้งวิชาจากบิดา และหลวงพ่อปาน แล้วสร้างเป็นวัตถุมงคลชิ้นแรกออกมา นั่นคือ "ตะกรุดโทน" โดยใส่ทั้งวิชาคาถาอาคม และจิตที่มุ่งมั่นที่อยากให้คนที่พกติดตัวไว้นั้น แคล้วคลาดปลอดภัย
ซึ่งกว่าจะสำเร็จออกมาเป็นตะกรุดโทนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จะต้องมีการจารอักขระเลขยันต์ และมีการผ่านพิธีอันสำคัญอย่างหนึ่งนั่นก็คือ การจารตะกรุดใต้น้ำ โดยท่านต้องดำน้ำลงไปจารอักขระบนแผ่นโลหะ ซึ่งคาถาที่ลงไปนั้นเน้นด้านคงกระพันชาตรี และมหาอุด
ไม่เพียงแต่ตะกรุดโทน หลวงพ่อเพี้ยน เท่านั้น วัตถุมงคล พระเครื่อง อื่นๆที่ท่านได้ทำออกมาด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ จึงสร้างประสบการณ์เป็นที่ปรากฎไว้มากมายด้านแคล้วคลาดปลอดภัย โดยปัจจัยที่ได้จากการให้เช่าวัตถุมงคลนั้น ทุกบาททุกสตางค์ ท่านนำไปใช้ในการทำนุบำรุงวัดวาอาราม ศาสนสถาน ซึ่งไม่เพียงแต่พัฒนาวัดดกริ่นกฐินเท่านั้น ท่านยังมีวิสัยทัศน์ มองไปถึงความยากลำบากของชุมชนด้วยจึงสร้างสาธารณประโยชน์ไว้มากมาย เช่น ถนนลาดยางจากถนนสายหลักท่าโขลง บ้านหมี่ เข้าสู่หมู่บ้าน เป็นต้น
วันที่ 5 ธันวาคม 2548 เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หลวงพ่อเพี้ยน ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท ในราชทินนาม "พระครูวิมลสมณวัตร"
บั้นปลายชีวิตในช่วงที่ท่านอายุมากเกิดอาพาธบ่อยครั้ง โดยครั้งสุดท้ายฉันอาหารไม่ได้ ปัสสาวะไม่ออก ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ที่โรงพยาบาลทรวงอก อ.เมือง จ.นนทบุรี จนกระทั่ง วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 03:25 น. ท่านได้ละสังขารไปอย่างสงบ สิริอายุ 91 ปี พรรษา 41
Comments