top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

“หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง” เกจิดังยุคสงคราม ศิษย์สืบสานตำนานพระพิมพ์หลวงพ่อปาน

“หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง” เกจิดังยุคสงคราม

ศิษย์สืบสานตำนานพระพิมพ์หลวงพ่อปาน

พระเครื่อง“แคล้วคลาด-เมตตา-รักษาโรค”

วัดศรีรัตนาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกขานกันทั่วไปว่า “วัดบางพัง” ตั้งอยู่ เลขที่ 39 บ้านคลองบางพัง ซอยสวัสดี หมู่ที่ 2 ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี สังกัดมหานิกาย เป็นวัดโบราณสร้างครั้งสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวปี พ.ศ. 2305 ไม่ทราบนามผู้สร้างชัดเจน ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดบางพัง” ตามท้องที่ที่ตั้งไว้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี

สาเหตุที่ชื่อวัดบางพังนั้นผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า เพราะน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยากัดเซาะพื้นดินริมตลิ่งแถบบริเวณนั้นพังมากเป็นบริเวณกว้างมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว จึงได้เรียกกันว่าตลิ่งพังแล้วและกลายมาเป็นบางพังในที่สุด วัดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีทางรถยนต์ตัดเข้าถึงวัดทำให้การคมนาคมไปมาหาสู่กันสะดวกมากขึ้น

ในช่วงมหาวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ วัดบางพังซึ่งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาเกือบจะไม่รอดจากการถูกน้ำถล่ม แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของพระสงฆ์ และชาวบ้าน รวมทั้งนายกเทศบาล ที่ระดมกันมาสร้างคันดิน และเสริมคันคอนกรีต ทำให้สามารถต้านทานระดับน้ำไม่ให้ทะลุทะลวงเข้ามาถล่มวัดได้เป้นเวลายานนานกว่า 2 เดือน

ที่สำคัญและกล่าวขานกันมากๆก็คือ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบารมีความศักดิ์สิทธิ์ของ “หลวงพ่อแฉ่ง” อดีตเจ้าอาวาส ที่ช่วยไม่ให้น้ำท่วมวัดและชุมชนจนหลายๆคนยกมือไหว้ท่วมหัว !!

“หลวงพ่อแฉ่ง” เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีความสำคัญในอดีต ด้วยความที่มีอาคมขลัง มีพลังทางจิตแก่กล้ายิ่ง เป็นพระปฏิบัติเชี่ยวชาญทางวิปัสสนากรรมฐานในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นผู้คงแก่เรียนจนทำให้ชื่อเสียงระบือไกล ท่านเกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธ.ค. 2428 ตรงกับขึ้น 12 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นบุตรของนายสิน นางขลิบ รัตนบุญสิน บรรพชาเมื่อ อายุ 12 ปี และอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ศึกษาเล่าเรียนวิชาอาคมขลังมาจากเกจิชื่อดังต่าง ๆ หลายรูปและได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชามาอย่างหมดไส้หมดพุง

อาทิ หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย (คลองด่าน) หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน, หลวงปู่ฉาย วัดพนัญเชิง คณาจารย์สาย หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่าง ฯลฯ

โดยเฉพาะหลวงพ่อปานวัดบางนมโค จ.อยุธยา ท่านจะให้ความเคารพนับถือมากเป็นพิเศษ ในฐานะลูกศิษย์และสหายธรรมรุ่นน้อง จึงได้รับอิทธิพลพระพิมพ์ทรงสัตว์ต่างๆมาจากหลวงพ่อปานด้วย ซึ่งท่านได้นำมาพิมพ์แจกจ่ายญาติโยม ได้รับความนิยมเช่าบูชากันมาก

สมัยหลวงพ่อแฉ่งยังมีชีวิตอยู่ วัดบางพังในอดีตคึกคักกว่าวัดอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียง แต่ละวันมีผู้คนมากหน้าหลายตาเดินทางมาจากถิ่นต่าง ๆ มาฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชากับท่านจนรับไม่หวาดไหว บางคนก็มาขอวัตถุมงคล บางคนก็มารักษาโรค บางคนก็มาปรึกษาขอความช่วยเหลือสารพัด เพราะทุกคนเชื่อมั่นว่าท่านช่วยได้

ผู้ที่ไปขอเรียนคาถาอาคม หลวงพ่อแฉ่งจะให้หัดนั่งสมถวิปัสนากรรมฐานก่อน เมื่อเห็นว่าพอไปได้ จึงจะให้รับนิสัยธรรมข้อหนึ่งที่หลวงพ่อจะอบรมสั่งสอนให้จำขึ้นใจ (เข้าใจว่าเป็นคุณธรรมประจำใจหรือธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง) จากนั้นจึงจะบอกตัวคาถาและเคล็ดวิชาต่าง ๆ ให้ การเรียนวิชาอาคมจากหลวงพ่อแฉ่ง ท่านสอนศิษย์ทั้งเรียนผูกและเรียนแก้ เพื่อป้องกันแก้ไขและช่วยเหลือคนที่มีทุกข์ถูกคุณไสยให้พ้นภัย เรียกว่าครบเครื่องเลยทีเดียว

ในพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลดังๆ เช่น พิธีที่วัดราชบพิธ พ.ศ. 2481 พิธีพุทธภิเษกพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ ในการพุทธาภิเษกพระกริ่งในเจ้าคุณศรีฯ วัดสุทัศน์ จะต้องนิมนต์หลวงพ่อแฉ่งร่วมปลุกเสกทุกครั้ง

วาระสุดท้ายท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2500 รวมสิริอายุ 72 ปี 52 พรรษา สังขารของท่าน สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฎกษัตริยาราม โปรดให้เคลื่อนไปพระราชทานเพลิงอย่างสมเกียรติ เมื่อ 11 พ.ค. 2501 ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพฯ โดยในงานศพมีการปั้มเหรียญรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดแจกเป็นที่ระลึกด้วย

กล่าวสำหรับวัตถุมงคลหลวงพ่อแฉ่งมีมากมาย ทั้งพระเนื้อผงพิมพ์ทรงสัตว์ต่าง ๆ มีหลายประเภททั้งพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์สามเหรียญ เนื้อผง พระรอด ตะกรุด ผ้ายันต์ธง ทรายเสก พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ พระประจำวัน นางกวัก พระพุทธกวัก สามเหลี่ยม พระสิวลีชนิดบูชา-คล้องคอ เนื้อหามีทั้ง ดิน ผงน้ำมัน ผงพุทธคุณ แต่ที่ได้รับความนิยมมาก ๆ คือชนิดผงน้ำมัน เพราะเนื้อหาดูง่าย เนื้อจัด หนึกนุ่ม ส่องแล้วสบายตา ราคาสบายใจไม่แพงมาก

แรงจูงใจในการจัดสร้าง บรรดาศิษย์และผู้ใกล้ชิดที่ศรัทธาพร้อมใจกันขอให้หลวงพ่อสร้างอิทธิวัตถุ เพื่อเป็นของที่ระลึกและคุ้มครองป้องกันภัย ประกอบกับในระยะนั้นสงครามมีท่าทีเกิดขึ้น ผู้คนเริ่มเสาะแสวงหาวัตถุมงคลไว้คุ้มกันตัว และเพื่อตอบแทนชาวบ้านที่มาร่วมทำบุญบริจาคทรัพย์สมทบทุนสร้างถาวรวัตถุสิ่งต่าง ๆ ภายในวัด หลวงพ่อแฉ่งได้สร้างวัตถุมงคลในปี พ.ศ.2484 แจกให้ศิษย์และชาวบ้านที่ศรัทธา

จำนวนจัดสร้าง วัตถุมงคลสร้างขึ้นมีจำนวนเท่าไร ไม่มีใครทราบ เพราะมิได้มีการจดบันทึกไว้ เป็นการทยอยสร้างทยอยปลุกเสก พอสร้างได้จำนวนมากพอสมควรแล้วท่านก็จะทำพิธีปลุกเสกสักครั้งหนึ่ง เป็นการปลุกเสกเดี่ยว จากนั้นจึงนำมาแจกเสียคราวหนึ่ง จำนวนพระทั้งหมดสันนิษฐานกันว่าประมาณหนึ่งหมื่นองค์เศษ ๆ วัตถุมงคลที่ท่านสร้างนั้น แจกฟรี ไม่มีการให้เช่าบูชา

วัตถุมงคลที่หลวงพ่อสร้างและปลุกเสก มีประสบการณ์โจษขานในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งโดดเด่นด้านแคล้วคลาดจากภยันตรายต่าง ๆ ด้านเมตตามหานิยมก็ไม่เป็นรองใคร นอกจากนี้ยังใช้เป็นพระหมอแบบพระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ได้อีกด้วย

ลักษณะและสีเนื้อพระ พระเนื้อผงที่หลวงพ่อแฉ่งสร้างขึ้นเป็นเนื้อประเภทปูนปั้นไม่ได้เผาไฟ ส่วนผสมหลักคือปูนขาวจากเปลือกหอยและน้ำมันตังอิ๊ว นอกนั้นก็เป็นผงวิเศษ 5 ประการ คือ ผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงมหาราช ผงพุทธคุณ และผงตรีนิสิงเห นอกนั้นก็มีเกสรดอกไม้ที่ชื่อเป็นมงคลนาม ทรายเสก และข้าวสุก เป็นต้น

กรรมวิธีใช้โขลกตำเนื้อพระและส่วนผสมตลอดจนการกรองผงมีความประณีตบรรจงมาก เนื้อละเอียดเนียนเข้ากันสนิท การผสมน้ำมันตังอิ๊วก็พอดี เนื้อพระแลดูนุ่มตาฉ่ำใส สีเหลืองเข้มกว่าสีของเนื้อพระกรุวัดคู้สลอดเล็กน้อย (กรณีไม่บรรจุกรุ) เรียกขานกันว่าเนื้อเทียนชัย เพราะสีของเนื้อพระแลดูคล้ายเทียนขี้ผึ้งสีเหลืองนั่นเอง แต่แลดูฉ่ำใส มีความซึ้งมากกว่าเทียน สามารถแลเห็นส่วนผสมภายในที่ลึกลงไปได้ด้วยแว่นขยาย

ทั้งนี้ พระเนื้อผงที่หลวงพ่อสร้างมีกี่แบบกี่พิมพ์ไม่มีใครตอบได้ ทางวัดก็ไม่เก็บข้อมูลไว้ ส่วนใหญ่ก็รู้เท่าที่ตัวเองมีอยู่ และหนังสือลงข้อมูลกันไว้ หากจะแยกย่อยออกไปจริงๆ น่าจะมีมากกว่า 30 พิมพ์ แม้ว่าพิมพ์หลักๆจะมีอยู่ประมาณ 10 พิมพ์ แต่ก็ยังแยกย่อยออกไปอีก เช่น พิมพ์ทรงหนุมานไม่ถือพระขรรค์ ถือพระขรรค์ข้างซ้าย ถือพระขรรค์ข้างขวา มีครอบแก้ว ไม่มีครอบแก้ว เป็นต้น แต่จะหาผู้ที่เก็บรวบรวมได้ครบจริง ๆ ยังไม่เคยเห็น

ยิ่งปัจจุบันเข้าสนามว่าหาของแท้ของท่านยากแล้ว ให้แท้และสวยยิ่งหายากเป็นเท่าๆตัว เพราะพระของท่าน เนื้อค่อนข้างเปราะ แตกหัก ชำรุดง่าย ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

แต่ที่ลูกศิษย์ลูกหาและผู้ศรัทธาต่างเชื่อว่าไม่เคยเสื่อมคลายก็คือ “พุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์” ที่ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ



ดู 158 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page