"หลวงพ่อแช่ม"วัดตาก้อง เกจิยุคสงครามอินโดจีน เจ้าตำรับเหรียญปืนไขว้
"หลวงพ่อแช่ม อินทโชโต" อดีตเจ้าอาวาสวัดตาก้อง พระเกจิอาจารย์แห่งลุ่มน้ำนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมอีกองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้-ไกล ท่านเป็นผู้ทรงวิทยาคมและพุทธาคมเป็นเลิศ เจ้าของฉายาว่า "เหรียญปืนไขว้"
ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเดียวกับพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายๆ รูป อาทิ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงพ่อจาด วัดบางกะเบา,หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก,หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ ครูบาศรีวิชัย เป็นต้น
ชาติภูมิท่านเป็นชาวบ้าน ต.ตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม (สมัยนั้นคือ อ.พระปฐมเจดีย์) เกิดเมื่อปี พ.ศ.2405 เยาว์วัยได้ศึกษาอักขระทั้งภาษาไทยและภาษาขอมกับพระอาจารย์จ้อย วัดดอนเจดีย์ ผู้เรืองวิทยาคม พร้อมทั้งประสิทธิ์ประสาทวิชาและเคล็ดลับต่างๆจนแตกฉาน
พออายุครบบวช จึงเดินทางกลับมาอุปสมบทที่วัดตาก้อง บ้านเกิด โดยมีหลวงพ่อทา เจ้าอาวาสวัดพะเนียงแตก เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา “อินทโชโต”จากนั้นติดตามพระอุปัชฌาย์ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดพะเนียงแตก ซึ่งพระอุปัชฌาย์นับเป็นพระเกจินักปฏิบัติผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ศรัทธาของจังหวัดรูปหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน และมีพลังทางจิตกล้าแข็ง ท่านสร้างเครื่องรางของขลังไว้แจกแก่ลูกศิษย์ลูกหามากมาย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่แสวงหาอย่างกว้างขวาง
เมื่อมาอยู่กับหลวงพ่อทา ด้วยความตั้งใจแน่วแน่และใฝ่ใจศึกษาของท่าน จึงสามารถสำเร็จในทุกแขนงวิชาที่พระอุปัชฌาย์ถ่ายทอดให้ และตัวท่านเองก็มุ่งมั่นศึกษาด้านคันถธุระ วิปัสสนาธุระ และฝึกฝนวิทยาการจนเกิดความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ยังฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาเพิ่มเติมจาก หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว พระเกจิผู้มีชื่อเสียงของ จ.นครปฐม ในสมัยนั้นอีกด้วย
จากนั้นท่านขออนุญาตพระอุปัชฌาย์ออกธุดงค์แสวงหาความรู้เพิ่มเติมไปจนข้ามไปถึงฝั่งพม่า และศึกษาศาสตร์ต่างๆ จากอาจารย์พม่าเดินทางกลับผ่านทางเมืองกาญจน์ เข้าสุพรรณบุรี แล้ววกกลับมา จ.นครปฐม โดยการเดินทางเท้าทั้งสิ้น ไม่ได้ขึ้นรถลงเรือ อาศัยเกวียนหรือช้างม้าแต่อย่างใด
เมื่อถึงวัดพะเนียงแตก เข้ากราบนมัสการหลวงพ่อทา พระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อทากล่าวปรารภว่า “เกิดเป็นคนก็ยาก บวชเป็นพระก็ยาก บวชแล้วได้เดินธุดงค์ก็ยาก ไม่เสียทีที่เกิดหรอกชาตินี้ พระศาสนาของเราได้พระภิกษุอย่างคุณ พระศาสนาไม่ตกอับหรอก” หลวงพ่อแช่มจึงกราบเรียนว่า “กลับมาครั้งนี้ก็คิดจะกราบลาไปจำพรรษาอยู่ที่วัดตาก้อง เพื่ออยู่ใกล้ญาติโยมทางโน้น”
ครั้นเมื่อมาอยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดตาก้อง ท่านถูกพระภิกษุบางกลุ่มเพ่งโทษคอยจับผิดท่าน นินทาว่าร้ายท่านว่าเป็นพระภิกษุพิเรนทร์ ไม่ร่วมสังฆกรรมกับพระสงฆ์ในวัด ไม่สวดมนต์ทำวัตรเย็นเช้า ไม่ลงฟังสวดพระปาฏิโมกข์ในวันพระ ไม่บิณฑบาตโปรดสัตว์ ไม่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ ไม่อยู่ในปกครองของเจ้าอาวาส และหุงข้าวทำครัวกินเหมือนชาวบ้าน
จนในที่สุดมีหนังสือร้องเรียนกล่าวโทษถึงเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เมื่อเจ้าคณะจังหวัดสอบสวนอธิกรณ์นี้ หลวงพ่อแช่มสามารถแก้ข้อกล่าวหาแต่ละข้อได้ด้วยถ้อยคำฉะฉาน ยิ่งทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังยิ่งไปขึ้น บำเพ็ญกิจช่วยเหลือญาติโยมตามกำลังสติปัญญาและวิชาความรู้ จนกระทั่งชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนชาวนครปฐมและใกล้เคียง รวมทั้งพุทธศาสนิกชนทั่วไปจนมรณภาพในปี พ.ศ.2490 สิริอายุ 85 ปี พรรษา 65
วัตถุมงคลต่างๆ ของท่านล้วนได้รับความนิยมและเป็นที่แสวงหาอย่างสูง เนื่องด้วยพุทธคุณเป็นเอกทั้งสิ้น มีอาทิ เหรียญปั๊มรูปเหมือนทรงเสมา ปี 2485 พระดินหน้าตะโพน และพระขุนแผนหน้าตะโพน รวมถึงเครื่องรางของขลัง ประเภทธง เสื้อยันต์ ผ้าเช็ดหน้ามหานิยม ผ้าประเจียดแดง ตะกรุดฝาบาตร พระพลายเพชรผงผสมดินหน้าตะโพน, ลูกสะกดปรอท ฯลฯ แต่ปัจจุบันหาดูหาเช่าได้ยากยิ่งนัก เพราะผู้ครอบครองต่างหวงแหน
โดยเฉพาะเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2484 ในช่วงที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ทหารญี่ปุ่นยกพลเข้าสู่ประเทศ ไทย ลูกศิษย์จึงขอให้หลวงพ่อแช่มสร้างเหรียญพระเครื่อง ท่านจึงได้สร้างเหรียญพระเครื่องขึ้นเป็นรุ่นแรก และก็ปรากฏพุทธคุณเป็นที่เลื่องลือขจรไกล ว่ากันว่ามีพุทธคุณล้ำเลิศในด้านคงกระพันชาตรี ฟันแทงไม่เข้าทีเดียว
รูปทรงของเหรียญก็ออกจะแปลกกว่าเหรียญรูปเหมือนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมสร้างเป็นเหรียญรูปไข่ หรือรูปทรงเสมา แต่ "เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแช่ม รุ่นแรก" นี้ ขอบโดยรอบจะหยักเป็นมุมแหลม 16 หยัก เท่ากับอัตราโสฬสมงคล "พระเจ้าสิบหกพระองค์" พอดิบพอดี แลดูสวยงามมาก บางทีจึงเรียกกันว่า "เหรียญพัดพุดตาน" หรือ "เหรียญกงจักร" มีหูในตัวแล้วเชื่อมต่อด้วยห่วงกลม โดยสร้างเป็นเนื้อทองแดง มีทั้งแบบรมดำและไม่รมดำ
ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อแช่มนั่งครองจีวรห่มคลุม เต็มองค์ มือข้างซ้ายยกขึ้นและมีอักขระขอม "ตัวนะ" ที่ฝ่ามือ ไม่มีอาสนะสำหรับรองนั่ง แต่กลายเป็น "ปืนไขว้" แทน ซึ่งเป็นอุปเท่ห์อย่างหนึ่งทางไสยเวทเรียกกันว่า "ข่มอาวุธ" หรือเรียกว่าเป็นการตัดไม้ข่มนาม
โดยรอบมีอักษรไทยว่า "หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง" มีอักขระขอมตรงอกเป็น "ตัวอะ" และบริเวณโดยรอบองค์ท่านอ่านว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ในหยักทั้ง 16 หยัก มีพระนามย่อ พระเจ้าสิบหกพระองค์ อ่านว่า "นะมะนะอะ นอกอนะกะ กอออนออะ นะอะกะอํ"
เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกนี้ ยังแบ่งแยกออกเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หูเดียวและพิมพ์สองหู มีความแตกต่างกันที่ใบหูของรูปเหมือนหลวงพ่อแช่ม ถ้าเป็น "พิมพ์หูเดียว" หูที่รูปเหมือนจะมีเพียงหูข้างขวาของท่านเพียงหูเดียว ส่วน "พิมพ์สองหู" รูปเหมือนจะปรากฏหู 2 หู แบบปกติ แต่พิมพ์หูเดียว จะมีจำนวนน้อยกว่าจึงเล่นหาได้ยากกว่า สนนราคาเช่าหาจึงสูงกว่า
แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ไหนก็ตาม "เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแช่ม รุ่นแรก ปี 2484" ก็นับเป็นเหรียญเก่าแก่ ที่มีความ เป็นเลิศในด้านพุทธคุณ คุ้มครองป้องกันภยันตรายต่างๆได้ฉมังนัก!!
Comentarios