"หลวงพ่อสมชาย พุทธสโร" เกจิวัดโพรงอากาศ จ.ฉะเชิงเทรา ศิษย์หลวงพ่อแจ๋-สายวิชาหลวงปู่ไข่
ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ขอนำเสนอประวัติ "หลวงพ่อสมชาย พุทธสโร" วัดโพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา พระดีเกจิดังแห่งเมืองแปดริ้ว สิริอายุ 75 ย่าง 76 ปี ศิษย์เอกที่สืบทอดวิทยาคมของหลวงพ่อแจ๋ วัดโพธิ์เฉลิมรักษ์ ซึ่งเป็นศิษย์พุทธาคมของหลวงปู่ไข่ อินทสโร วัดบพิตรพิมุข (เชิงเลน) กรุงเทพฯ
หลวงพ่อสมชายจึงนับเป็นเกจิผู้สืบสายพุทธาคมหลวงปู่ไข่ ผ่านหลวงพ่อแจ๋มาแบบเต็มๆ
พื้นเพเป็นชาวบางน้ำเปรี้ยวโดยกำเนิด เกิดในสกุล"ไทยเจริญ" เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2488 โยมบิดาชื่อ "กำนันผาด" โยมมารดาชื่อ "นางจำปี" ท่านเป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 6 คน ครอบ ครัวประกอบอาชีพค้าขาย
เยาว์วัยเข้าศึกษาที่โรงเรียนบางน้ำเปรี้ยววิทยา จบชั้นมัธยมฯ6 มีเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันชื่อดังหลายคน อาทิ นายอุดร ขจรเวหา อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร, พล.อ.ธานี เกิดแก้ว และนายสุชล วัฒนวานิช อดีตผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ฯลฯ
หลังจากเรียนจบเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยวได้ 3 ปี จึงอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.2510 มี พระครูรัตนสุนทร (กวย) วัดบางน้ำเปรี้ยว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูศิริเกตุวรคุณ(เลี่ยม)วัดเกตุสโมสร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูจารุวรรณ (จ้อย) วัดบางน้ำเปรี้ยว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "พุทธสโร"
ท่านอยู่รับใช้พระอุปัชฌาย์ที่วัดบางน้ำเปรี้ยว 7 วัน จึงย้ายไปจำพรรษาที่วัดโพธิ์เฉลิมรักษ์ (คลอง 20) เพื่อศึกษาวิชาความรู้กับหลวงพ่อแจ๋ ที่เลื่อมใสศรัทธามาตั้งแต่ก่อนบวช
ก่อนบวชนั้นบิดาพาไปฝากเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อแจ๋ ได้รับการเป่ากระหม่อมและมอบตะกรุดโทนให้ 1 ดอก นอกจากนี้ เมื่อครั้งเป็นวัยรุ่นไฟแรงชอบตีรันฟันแทงกับนักเลงในถิ่นและต่างถิ่น โดนนักเลงดีฟันแทง แต่ไม่ระคายผิวหนังจนโด่งดังทั่วย่านบางน้ำเปรี้ยว
ขณะจำพรรษาอยู่วัดโพธิ์เฉลิมรักษ์ ท่านตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก จากนั้นจึงหันไปศึกษาพุทธาคมจนสามารถจารอักขระเลขยันต์ได้คล่องแคล่ว เขียนยันต์ได้งดงามเป็นที่ไว้วางใจจากหลวงพ่อแจ๋ มอบหมายให้จารตะกรุดแทน
ที่สำคัญท่านได้ศึกษาวิทยาคมที่หลวงพ่อแจ๋ได้ศึกษามากับหลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน จนหมดสิ้น ทั้งวิชาจากพระครูญาณรังสีมุนีวงษ์(ทำ)วัดสัมปทวน ก็เรียนจนทะลุปรุโปร่ง
ศึกษาวิทยาคมกับหลวงพ่อแจ๋นาน 6 ปี จึงเดินทางไปขอเรียนวิชาจากหลวงพ่อทอง วัดก้อนแก้ว ได้รับวิชาตกทอดมาจากหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก และหลวงพ่อถึก วัดสนามช้าง ได้แก่ วิชาปลัดขิกและนะเก้ายอด ก่อนไปศึกษาพุทธาคมกับพระครูกิตตินนทคุณ (กี๋) วัดหูช้าง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี, หลวงปู่ถิร วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี, หลวงปู่เทียม วัดกษัตราธิราช อยุธยา, หลวงพ่อสีหมอก วัดวังตะโก
จากนั้นจึงธุดงค์รอนแรมไปในภาคเหนือเพื่อศึกษาและฝึกฝนพุทธาคมจนได้พบกับ พระครูสันติวรญาณ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร) พระป่าสายหลวงปู่มั่นที่วัดถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
อยู่จำพรรษาฝึกฝนวิปัสสนากรรมฐาน ก่อนธุดงค์กลับมาวัดโพธิ์เฉลิมรักษ์ช่วยงานพระครูโพธิวรานุรักษ์ (ไพบูลย์) เจ้าอาวาส และเป็นศิษย์หลวงพ่อแจ๋รุ่นพี่ พัฒนาวัดโพธิ์เฉลิมรักษ์จนเจริญรุ่งเรือง
ในปี พ.ศ.2519 หลวงพ่อสมชายธุดงค์มาปักกลดบริเวณตำบลโพรงอากาศ นายจันทร์และนางแฉล้ม ประดิษฐ์วงศ์ (ศิริสุข) เจ้าของที่ดิน เกิดความศรัทธาจึงถวายที่ดิน 7 ไร่ ให้สร้างวัด พร้อมทั้งถวายที่ดินเพิ่มให้อีก 8 ไร่ รวมทั้งสิ้น 15 ไร่
นอกจากนี้ ท่านได้สละที่ดินส่วนตัวของท่านที่เป็นมรดกตกทอดมาจากโยมพ่อขายไปทั้งหมด แล้วนำเงินมาซื้อที่ดินเพิ่มจนมีที่ดินทั้งหมด 48 ไร่ จากนั้นจึงเริ่มงานก่อสร้างต่างๆ ระหว่างเริ่มก่อสร้างวัดท่านได้รับนิมนต์ไปประเทศอินเดียเพื่อนมัสการสังเวชนียสถาน 5 ตำบล กับพระครูประกาศสมาธิคุณ วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ และหลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว จ.สุพรรณบุรี
คราวนั้นได้นำผ้าป่าไปทอดถวายวัดไทยที่เมืองสารนาถ เพื่อสร้างโบสถ์ได้ปัจจัยจำนวน 76,000 ดอลลาร์ หลังจากนั้นจึงเดินทางกลับประเทศไทย
หลวงพ่อสมชายเป็นพระที่มีเมตตาธรรมสูง พูดจริง ทำจริง ใครที่ได้เข้ามากราบนมัสการสนทนาพูดคุยจะได้ข้อธรรมมากมาย ด้วยท่านจะให้คำแนะนำสั่งสอน และชี้ทางแก้ไขทุกข์ทางกายและทางใจ โดยท่านจฝต้อนรับญาติ โยมด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม
ปัจจัยเงินทองที่ได้มาจากการบริจาคของญาติโยม หรือจากการทำบุญบูชาวัตถุมงคล ท่านจะนำไปใช้สร้างวัดโพรงอากาศจนหมดสิ้น แม้ท่านจะชอบเก็บตัวเงียบ แต่งานปลุกเสกวัตถุมงคล เจ้าภาพจะต้องส่งใบฎีกานิมนต์หลวงพ่อสมชายเข้าร่วมนั่งปรกแทบทุกครั้ง ด้วยเชื่อในพลังจิตอันเข้มขลังที่มีอยู่ในตัวท่าน
ผลงานชิ้นสำคัญของหลวงพ่อสมชาย คือ อุโบสถมหาเจดีย์ ซึ่งเป็นอุโบสถที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน จ.ฉะเชิงเทรา มีเสาโบสถ์ขนาด 3 คนโอบ จำนวนถึง 196 ต้น ถือเป็นสัญลักษณ์ของวัดโพรงอากาศที่โดดเด่นสะดุดตา เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2535
หลวงพ่อสมชายได้จัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ โดยสืบสานตำรา และรูปแบบของหลวงพ่อแจ๋ วัตถุมงคลยอดนิยมของท่าน อาทิ พระปิดตา เนื้อผงคลุกรัก รุ่นแรก สร้างตามตำรับหลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน, เหรียญนางกวัก รุ่นแรก และรุ่น 2 พิมพ์ทรงเดียวกับของหลวงพ่อแจ๋, เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ปลัดขิก ฯลฯ
เรื่องพุทธคุณนั้น ดีทางแคล้วคลาดคงกระพัน จากประสบการณ์ของลูกศิษย์หลายๆคน
Commentaires