top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

อาลัย“หลวงพ่อเฉลิม”นึกถึง เหรียญเสมาหลวงพ่อกลั่น

กิตติศัพท์คงกระพัน-หายาก

ภาษีดีกว่าเหรียญหลวงปู่เอี่ยม


ทีมข่าวกองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ น้อมอาลัยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง พระเถราจารย์เมืองกรุงเก่าละสังขารไปอีกองค์.. พระโบราณคณิสสรหรือ"หลวงพ่อเฉลิม เขมทัสส" เกจิดังวัดพระญาติการาม ต.ไผ่ลิง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรี อยุธยา ศิษย์สายพุทธาคมหลวงพ่อกลั่น-หลวงพ่ออั้น มรณภาพด้วยอาการสงบเมื่อเวลา 01.35 น. วันที่ 16 พ.ค.2564 ณ โรงพยาบาลราชธานี สิริอายุย่าง97ปี


เมื่อเอ่ยถึง หลวงพ่อเฉลิม ก็ให้นึกถึง หลวงพ่อกลั่น และ“เหรียญยอดนิยม” หนึ่งในชุดเบญจภาคี “เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อกลั่น” อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดพระญาติการาม ต.ไผ่ลิง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันสนนราคาเล่นหาว่ากันที่หลักล้าน

“หลวงพ่อกลั่น” ท่านเป็นชาวเมืองกรุงเก่าอยุธยาโดยกำเนิด เกิดประมาณปี 2390 อายุอ่อนกว่าหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ราว 5 ปี เป็นบุตรคนโตจำนวนพี่น้อง 3 คน ของนายอิน และนางชั้น เดิมมีชื่อเรียกขานว่า “อู๊ด” แต่บิดาเห็นว่าเป็นเด็กเฉลียวฉลาดและกล้าหาญ จึงเปลี่ยนตั้งนามให้ใหม่ว่า “กลั่น”

เรียนหนังสือและวิชาช่างในสำนักวัดประดู่ทรงธรรมกับ “หลวงพ่อม่วง” ซึ่งเก่งทางกรรมฐาน และเคยทำตะกรุดพิชัยสงครามถวายรัชกาลที่ 5

เมื่อเป็นหนุ่มศึกษาวิชากระบี่กระบองและอาวุธไทยโบราณทุกชนิด ตั้งแต่ดาบเดี่ยว ดาบสองมือ หอก แหลม หลาว ง้าว โตมร ไปจนถึงมวยไทย

เวลารำกระบี่กระบองหรือรำกลอง ได้รับเสียงชื่นชมว่าสวยยิ่งนัก เพราะท่านเคยเล่นโขนเป็นตัวหนุมานในโรงของเจ้าพระยาเทเวศร์ วงศวิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) มาก่อน เป็นผู้รักการต่อสู้ เป็นนักเลงจริงเป็นที่ครั่นคร้ามของคนทั่วไป

แต่ครั้นเมื่อโยมบิดามารดานำไปอุปสมบท ก็ละวางอาวุธและความเป็นนักเลงขมังอาคม เป็นพระพุทธบุตรได้อย่างประเสริฐ และมิได้สึกออกมาจากผ้าเหลืองจนมรณภาพ

ท่านอุปสมบทเมื่ออายุ 27 ปี ที่วัดโลกยสุทธาศาลาปูน โดยมีพระญาณไตรโลก(สะอาด) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกุศลธรรมธาดา วัดขุนญวน กับพระอธิการชื่น วัดพระญาติการาม เป็นคู่สวด ได้นามฉายา “ธัมมโชติ” ซึ่งแปลว่า “ผู้สว่างในทางธรรม”

หลังบวชแล้วได้ติดตามพระอธิการชื่น มาจำพรรษาที่วัดพระญาติ ร่ำเรียนด้านวิปัสสนากรรมฐาน เวลาออกพรรษาก็ถือธุดงค์เป็นวัตร ไม่ค่อยอยู่ติดวัด ใกล้เข้าพรรษาก็กลับมาวัดเสียครั้งหนึ่ง แม้ได้เป็นเจ้าอาวาสแล้ว ก็ยังออกเดินธุดงค์ จนกระทั่งอายุมากขึ้นจึงได้หยุด

ความรู้ของท่านทั้งด้านอาวุธโบราณและมวยไทยไปจนถึงวิชาอาคม เล่าเรียนมาจากหลวงพ่อเฒ่ารอด หรือหลวงพ่อเฒ่ารอดเสือ วัดประดูในทรงธรรม อาจารย์เดียวกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

สำหรับวัดประดู่ทรงธรรม นับเป็นแหล่งรวมสรรพวิชา เพราะมีตำรับตำราสมุดข่อยตกทอดมาแต่ครั้งสมัยอยุธยามากมาย ลูกศิษย์หลวงพ่อกลั่นที่ได้ศึกษาจากตำราสำนักนี้ เช่น หลวงปู่สี วัดสะแก และอาจารย์เฮง ไพรวัลย์ ฯลฯ

เมื่อท่านยังแข็งแรงอยู่นั้น สำนักวัดพระญาติการาม ผลิตนักกระบี่กระบองอันมีชื่อก้อง ไม่เคยแพ้ใครให้ได้อาย แถมยังมีความคงกระพันเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะวิชาชาตรีที่เรียกว่า “เก้าเฮ” หรือ “เฮกังกุง” ซึ่งเป็นวิชาชักยันต์แบบแขกนั้น เป็นวิชาที่ขึ้นชื่อ

นอกจากจะแทงตีไม่เข้าแล้ว กระดูกยังไม่หักอีกด้วย

ในหนังสือ “วิชาคงกระพันชาตรี” ของอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ได้กล่าวถึง “วิชาชาตรี” และหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติไว้ว่า “วิชาชาตรีแตกต่างกับวิชาคงกระพัน” คงกระพันฟันแทงไม่เป็นอันตรายจริง แต่ก็ยังมีความเจ็บปวดรวดร้าวบ้าง

สำหรับวิชาชาตรีนั้น ไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย เป็นวิชาที่ทำให้ตัวเบา และของหนักต่างๆที่จะมากระทบตัวเราก็เบาไปหมด คนที่สำเร็จวิชาชาตรีนั้น สามารถโลดกระโดดได้สูง 3 วาก็มี วิชานี้ไม่ใช่เสกอาพัดเช่นวิชาคงกระพัน เป็นวิชาใช้แต่งตัวคือบริกรรมคาถา แล้วเอามือทั้งสองลากไปตามตัว เรียกว่าชักยันต์อาจารย์ชาตรี ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ ท่านอาจารย์กลั่น วัดพระญาติ กรุงเก่า เสด็จในกรมหลวงชุมพร ก็เสด็จไปทรงศึกษาที่สำนักนี้

วัดพระญาติการาม หรือชื่อเดิมว่า “วันพบญาติ” เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองกรุงเก่ามาแต่อดีต แม้สงครามเสียกรุงจะทำให้วัดหยุดความเจริญไปพักหนึ่ง

แต่ก็กลับมาเจริญอีกในที่สุด ด้วยบารมีของหลวงพ่อกลั่น เพราะแม้รูปลักษณ์ท่านจะเป็นนักเลงโบราณ หน้าตาค่อนข้างดุ พูดจาตรงๆแรงๆ แต่ความเมตตานั้นเป็นยอด ท่านชอบเลี้ยงสัตว์ เช่น ลิง นก สุนัข แมว กา ไก่และชะนี สัตว์ทุกชนิดจะเชื่องมา แม้กระทั่งอีกา ซึ่งเป็นสัตว์ที่ปราดเปรียว ท่านเสกข้าวสารให้อีกากินทุกวันจนคุ้นกัน พอได้เวลาก็จะมาจับที่หน้าต่างกุฏิคอยรับอาหารจากมือ เมื่อท่านไปไหนก็จะบินมาเกาะบ่าและบินตามไปเหมือนไก่เชื่อง

นอกจากนี้ เมื่อท่านพายเรือไปบิณฑบาต อีกตาจะเกาะกาบเรือและหัวเรือเป็นแถว ชาวบ้านมองเห็นมาแต่ไกลก็จำได้ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ต่างจากพระองค์อื่น ลูกศิษย์ของท่านในสมัยนั้นมีหลายพวก ทั้งมาเรียนวิชาอาคม เรียนกระบี่กระบองป้องกันตัว หรือไม่ก็เรียนกลองยาวเบ่นในพิธีบวชนาค สงกรานต์ แห่ผ้าป่าและกฐิน วิชาเหล่านี้ท่านลงมือสอนด้วยตนเองทั้งสิ้น

ศิษย์ที่สืบทอดพุทธาคมไว้แบบเต็มๆก็คือหลวงพ่ออั้น อดีตเจ้าอาวาสวัดพระญาติรูปต่อมา ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง และเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ องค์ปัจจุบัน

หลวงพ่อกลั่นถึงกาลมรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2477 รวมสิริอายุ 87 ปี 60 พรรษา

มีเรื่องเล่ากันว่าก่อนที่หลวงพ่อกลั่นจะมรณภาพ อีกานับร้อยพันตัวมาออกันทั่ววัด ส่งเสียงระเบ็งเซ็งแซ่ พอท่านสิ้นลม อีกาเหล่านั้นเงียบเสียงเป็นปลิดทิ้ง แล้วโผบินจากไปเป็นกลุ่มๆ ครั้นพอถึงวันฌาปนกิจสังขารหลวงพ่อกลั่น รุ่งขึ้นมีการทำบุญอัฐิ อีกาก็กลับมาอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย พวกมันบินมาเกาะที่เชิงตะกอน และบริเวณลานวัด จากนั้นก็พากันบินวนไปรอบๆอยู่ 3 รอบ และตั้งแต่วันนั้นก็ไม่มีใครได้เห็นอีกาที่วัดพระญาติการามอีกเลย

ในชีวิตหลวงพ่อกลั่นสร้างวัตถุมงคลโด่งดังที่สุดคือ เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2469 เรียกว่า “เหรียญเสมา พิมพ์หลังขอเบ็ด” เพื่อหาทุนสร้างโบสถ์ ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปหลวงพ่อกลั่นนั่งขัดสมาธิอยู่บนตั่งขาสิงห์ล้อมรอบด้วยอักขระ “นะโมพุทธายะ” มีกนกข้างซ้ายและขวา กรอบนอกเป็นเม็ดไข่ปลาโดยรอบซ้อนกัน 2 ชั้น และมีอักขระว่า “หลวงพ่ออุปัชฌายะ (กลั่น) วัดพระญาติ ด้านบนอ่านตามขวางว่า พ.ศ.๒๔๖๙”

ด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์ เฑาะขัดสมาธิ มีอักขระขอม 4 ตัว พุทธะสังมิ ด้านล่างสุดมีตัว นะ ล้อมรอบด้วยอักษรไทยเขียนว่า “ที่รฤกในการปฏิสังขรณ์อุโบสถ” จำนวนสร้างทั้งหมดเพียง 3,137 เหรียญ มีเนื้อเงินองค์ทอง 12 เหรียญ เนื้อเงินองค์นาก 25 เหรียญ เนื้อเงิน 100 เหรียญ และเนื้อทองแดง 3,000 เหรียญ ได้เงินทำบุญสร้างโบสถ์ทั้งหมด 5,000 บาท

แต่ปัจจุบันเหรียญทองแดงเช่าหากันเป็นหลักแสน หากสภาพสวยๆก็อาจจะถึงหลักล้านได้ ทั้งที่เมื่อแรกออกนั้นราคาแค่ 1 บาท แม้วัตถุมงคลที่สร้างหลังจากท่านมรณภาพไปแล้ว ก็มีราคาค่างวดเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกลม ปี 2478 เหรียญยันต์ตะกร้อ ปี 2483 และเหรียญรุ่นชาตรี ปี 2507

ก่อนหน้านี้ ในบรรดาเหรียญพระคณาจารย์ดังของเมืองไทย เหรียญเสมาหลวงพ่อกลั่นรุ่นแรก วัดพระญาติการาม ต.ไผ่ลิง จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกจัดวางให้เป็นอันดับหนึ่ง ในชุดเบญจภาคีเหรียญ ถือเป็นเหรียญเก่าที่มีค่านิยมและราคาเล่นหาของบรรดานักสะสมวัตถุมงคลประเภทเหรียญสูงที่สุด

ต่อมา เหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง บางขุนเทียน ถูกโหวตให้เป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากมีศิลปะที่สวยงามกว่า

สำหรับเซียนวัตถุมงคลประเภทเหรียญแล้ว ไม่อาจขาดเหรียญใดเหรียญหนึ่งไปได้

เพราะเป็นเหรียญที่หา “ของแท้” ได้ยาก

หลวงปู่เอี่ยมและหลวงปู่กลั่น วิชาท่านไม่เบาทั้งคู่ วัตถุมงคลก็มีพุทธคุณไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

โดยเฉพาะกิตติศัพท์ในเรื่องคงกระพันชาตรี ยิงฟันแทงไม่เข้า

แต่ในเรื่อง “หายาก” นั้น

เหรียญหลวงพ่อกลั่นจะมีภาษีกว่าครับ!!!








ดู 1,049 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Kommentare


bottom of page