top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

#เส้นเกศาและมวลสารเก่าหลวงปู่ญาท่านสวน


เมื่อพูดถึง “พระขุนแผนพญาไก่เถื่อน”

ของหลวงปู่เร็ว วัดหนองโน จ.อุบลราชธานี

ระบุว่ารุ่นนี้มีเส้นเกศาและมวลสารเก่าหลวงปู่ญาท่านสวน วัดนาอุดม พระอุปัชฌาย์หลวงปู่เร็ว นำเข้ามาผสมไว้ด้วย ถือเป็นสุดยอด ทำให้หวนนึกถึง พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง หลวงปู่ญาท่านสวน วัดนาอุดม พระอุปัชฌาย์หลวงปู่เร็ว วัดหนองโน จ.อุบลราชธานี ตำรับวิชาฝังเข็มดำ วิชาหมากินใจ หมากินความคิด

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ จึงนำเอาประวัติของท่านมาบันทึกให้อ่านและจดจำกัน

“พระครูอาทรพัฒนคุณ” หรือ “หลวงปู่ญาท่านสวน ฉันทโร” วัดนาอุดม อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี ศิษย์พระอาจารย์แพง วัดสิงหาญ จ.อุบลราชธานี

ท่านเกิดเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2453 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ ที่บ้านนาทม เป็นบุตรคนที่5ในจำนวนพี่น้อง 8 คน บิดาชื่อ"คูณ" มารดาชื่อ"ผุย" นามสกุล "แสงเขียว" ครอบครัวมีอาชีพทำนา

ชีวิตเยาว์วัย เป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่าย เรียบร้อย สุภาพอ่อนโยน อุปนิสัย ชอบรักความสงบ มีใจใฝ่ในทางพระพุทธศาสนา เมื่อเจริญเติบโตขึ้น ชีวิตย่างเข้าสู่วัยรุ่น เป็นผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีช่วยเหลือการงานด้วยความขยันขันแข็ง

เมื่ออายุครบ 20 ปีตัดสินใจเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2473 ที่วัดนาอุดม บ้านนาทม ต.คำหว้า อ.พิบูลมังสาหาร (ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็น อ.นาตาล) โดยมีพระอธิการพรมมา วัดบ้านระเว ต.ทรายมูล (ปัจจุบัน ต.ระเว) อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระดี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฉันทโร” แปลว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งความพอเพียง”

ภายหลังอุปสมบท พำนักและศึกษาเล่าเรียนธรรมะ ฝึกฝนสวดมนต์ และปาติโมกข์ อยู่ในสำนักของเจ้าอธิการส่วน ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดนาอุดม เป็นเวลา 3 ปี จากนั้น จึงย้ายไปศึกษาเพิ่มเติมที่วัดบ้านคำหว้า เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน

พ.ศ.2478 ท่านจึงย้ายไปศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่วัดสำโรงใหญ่ ขณะนั้น "พระอาจารย์หม่อน" ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ได้ศึกษาวิชามูลกัจจายน์ และวิชาวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ท่านเล่าว่า พระอาจารย์หม่อนเคร่งครัด ระเบียบวินัยมาก ผู้ที่จะมาศึกษาเล่าเรียนที่สำนักแห่งนี้ จะต้องมีความขยันหมั่นเพียร และต้องมีความขยันอดทนเป็นอันมาก

วันหนึ่ง พระอาจารย์หม่อน เรียกเข้าไปหาและบอกว่าจะสอนกัมมัฏฐานให้ ได้พาท่านเข้าไปในป่าช้าฝึกวิธีการกำหนดลมหายใจเข้าออก เมื่อฝึกปฏิบัติจนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านก็ให้กลับไปฝึกปฏิบัติเอง ถ้าหากติดขัดประการใดก็ให้มาถาม นอกจากวิชากัมมัฏฐานแล้ว พระอาจารย์หม่อนยังได้สอนวิทยาคมต่างๆให้อีกด้วย

นอกจากนี้ ท่านศึกษาเรียนรู้วิธีการเขียน การอ่านอักษร ขอม เขมร และอักษรธรรมอีสาน จนเกิดความชำนิชำนาญ สามารถอ่านออกเขียนได้จนคล่องแคล่ว

ต่อมาท่านเดินทางไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ญาท่านกรรมฐานแพง แห่งวัดสะพือ อ.พิบูล มังสาหาร จ.อุบลราชธานี เรียนรู้การปลุกเสกวัตถุมงคล นอกจากนี้ ยังได้เรียนวิชาการลงตะกรุดต่างๆ และวัตถุมงคลอื่นๆ ในสายของสำเร็จลุน ที่ญาท่านกรรมฐานแพงได้รับการถ่ายทอดจากท่านสำเร็จลุน

ทั้งนี้ วิชาที่ท่านได้ศึกษากับ 2 ปรมาจารย์ดังคือ การสร้างเครื่องรางของขลังต่างๆ เช่น การลงตะกรุด เท่าที่รวบรวมได้มีดังนี้ ตะกรุด 5 กษัตริย์ มีผลทางมหาอุด แคล้วคลาด คงกระพัน,ตะกรุดสายรกพระพุทธเจ้า,ตะกรุดโทน,ตะกรุดกับระเบิด,ตะกรุดอุปคุต,ตะกรุดสาล ิกาตอมเหว่,ตะกรุดหนังกลองแตก เป็นสุดยอดของตะกรุดเมตตา,ตะกรุดไก่ขึ้นรถลงรา (มีผลทางด้านเมตตาค้าขายดีนักแล) ,ตะกรุดเข้าตา ทำจากเงินปากผีเผาวันอังคาร ใส่เข้าใต้เปลือกตาได้เพราะมีขนาดเล็กมาก,ตะกรุดคลอดลูกง่าย

นอกจากนี้ ยังมีวิชาการทำผ้ายันต์ เสื้อยันต์ การสร้างลูกปะคำโทน(ลูกอม) สร้างรูปนางกวัก,ปลัดขิก,ราหูอมจันทร์,สีผึ้งมหาเสน่ห์,วิชาการเรียกสูตร ลบผงอิทธิเจ ผงปถมัง และผงวิเศษอื่นๆ ,การทำน้ำพระพุทธมนต์ซึ่งมีเคล็ดลับพิสดารมากมาย,วิชาหมากินใจ (หมากินความคิด) เป็นสุดยอดแห่งวิชาเมตตาอีกวิชาหนึ่ง

อีกหนึ่งวิชานั่นคือ "การฝังเข็มดำ" ซึ่งเป็นวิชาสุดยอดทางด้านคงกระพัน ป้องกันศาสตราวุธต่างๆ ซึ่งน้อยคนนักที่จะมีวาสนาได้เรียนและเรียนได้สำเร็จ

ปีพ.ศ.2534 ท่านกลับไปวัดนาอุดม บ้านนาทม ซึ่งเป็นวัดที่ท่านอุปสมบทครั้งแรก ทำให้เกิดความสังเวชใจที่เห็นสภาพวัดที่ทรุดโทรม เกือบจะเป็นวัดร้าง ท่านจึงตัดสินใจกลับมาจำพรรษาที่วัดนาอุดม เพื่อต้องการฟื้นฟูวัดนาอุดมขึ้นใหม่

ในขณะนั้นพระอาจารย์ยอด ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส แต่หลวงปู่ญาท่านสวนไปอยู่ในฐานะพระลูกวัด ท่านได้สร้างเสนาสนะขึ้นมาใหม่แทนของเดิมที่เก่า กำลังพังทรุดโทรม เช่น โบสถ์ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอระฆัง เมรุเผาศพ ศาลาพักศพ โรงครัว และถังเก็บน้ำ ห้องน้ำ ห้องส้วม ทำให้วัดนาอุดมเจริญขึ้นตามลำดับ

ลำดับสมณศักดิ์ เมื่อปีพ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ สัญญาบัตรพัดยศชั้นตรีที่ราชทินนาม "พระครูอาทรพัฒนคุณ" ปีพ.ศ.2525 ได้เลื่อนสมณศักดิ์ สัญญาบัตรพัดยศชั้นตรีเป็นชั้นโท ในราชทินนามเดิม รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าคณะตำบลสำโรง ปีพ.ศ.2548 ได้เลื่อนสมณศักดิ์สัญญาบัตรยศเป็นชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

หลวงปู่ญาท่านสวนเป็นพระอริยสงฆ์ที่เปี่ยมล้นไปด้วยพลังแห่งความเมตตา ออกโปรดญาติโยมและศิษยานุศิษย์ทั้งหลายโดยไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย ท้อถอย ท่านให้การสงเคราะห์โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ท่านให้ความเสมอภาคเท่ากันหมด

ท่านมีความเป็นอยู่อย่างสันโดษ สมถะ เรียบง่าย ประหยัด มัธยัสถ์ ใช้สิ่งของที่ญาติโยมนำมาถวายอย่างคุ้มค่า ไม่มีความยินดีในการเป็นอยู่อย่างสุขสบาย หากแต่มีความยินดีในความเป็นอยู่อย่างทุรกันดารแบบชนบท

วาระสุดท้ายท่านมรณภาพอย่างสงบเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2549 ซึ่งตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ วันอังคาร (เป็นวันครูของท่าน) สิริอายุ 95 ปี 6 เดือน 6 วัน 75 พรรษา ปรากฏว่าสรีระสังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย


















ดู 194 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page