top of page
ค้นหา

คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดังnประจำวันอาทิตย์ที่ 5 มี.ค. 2566 "หลวงปู่เย่อ"วัดอาษาสงคราม เกจิสายรามัญปากน้ำ

  • รูปภาพนักเขียน: อ.อนุชา ทรงศิริ
    อ.อนุชา ทรงศิริ
  • 5 มี.ค. 2566
  • ยาว 1 นาที

#คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดัง

ประจำวันอาทิตย์ที่ 5 มี.ค. 2566

"หลวงปู่เย่อ"วัดอาษาสงคราม

เกจิสายรามัญเมืองปากน้ำ

“ของดีทุกอย่าง-ขลังทุกรุ่น”

หนึ่งในอาจารย์ลพ.สุพจน์

"ย้อนรอยเกจิ"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติอดีตพระเกจิชื่อดังแห่งนครเขื่อนขันธ์ "หลวงปู่เย่อ โฆสโก" อดีตเจ้าาอวาสวัดอาษาสงคราม อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

หนึ่งในเกจิอาจารย์ดังขมังเวทย์ที่ผู้คนกล่าวขานถึงเสมอมา ท่านเป็นพระเชื้อสายรามัญ จัดเป็นพระนักพัฒนาองค์หนึ่งในสมัยนั้น ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั้ง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ประชาชนแถบนั้นมากมาย พระเครื่องและวัตถุมงคลของท่าน มีประสบการณ์ต่างๆนาๆมากมาย คนสมุทรปราการจะรู้กันดี โดยเฉพาะข้าราชการจะใช้ดี

นามเดิมท่านคือ "ไพทูรย์ (เย่อ)" นามสกุล "กงเพ็ชร์" ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2431 ตรงกับวันแรม 3 ค่ำ เดือน 7 ปีชวด ที่บ้านทมัง ต.ตลาด อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ มีญาติพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกันทั้งสิ้น 4 คน คือ1. นางหนู 2. นายบ๊ะ 3. หลวงปู่เย่อ (อาจารย์เย่อ) 4. นายเว่

ช่วงวัยเยาว์ บิดาพาไปทำบุญที่วัดด้วยเสมอ ทำให้เลื่อมใสต่อบวรพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็กๆ ดังนั้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2444 ท่านมีอายุได้ 13 ปี บิดามารดาจึงได้พาท่านไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอาษาสงคราม โดยมีท่านมหาขันธ์ เป็นอาจารย์ให้ศีลและอนุสัยบวชให้

หลังจากนั้นได้ศึกษาเล่าเรียนอักขระสมัยทั้งไทยและรามัญจนมีความชำนาญ โดยเฉพาะอักขระขอมรามัญ จึงทำให้ท่านสามารถค้นคว้าตำราและพระคัมภีร์ต่างๆของรามัญได้อย่างกว้างขวาง เกิดความรอบรู้ทั้งทางปริยัติธรรมและวิชาแขนงต่างๆ ทางพุทธศาสนาตลอดจนวิชาการแพทย์ตามแบบโบราณสมัยไว้ช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านอีกด้วย

เมื่ออายุครบ 20 ปี ได้เข้าอุปสมบทที่วัดพญาปราบปัจจามิตรซึ่งอยู่ติดกัน เนื่องจากสมัยนั้นวัดอาษาสงครามยังไม่มีอุโบสถและพัทธสีมา แล้วนิมนต์ให้พระอธิการทอง วัดโมกข์ เป็นอุปัชฌาย์ พระอธิการเกลี้ยง วัดพญาปราบปัจจามิตร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมวิสารธะ วัดโมกข์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ กำหนดวันอุปสมบทเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2451 พระอุปัชฌาย์ตั้งฉายาให้ว่า "โฆสโก" แปลได้ว่า "ผู้มีความกึกก้องกังวาน" หมายถึง มีธรรมอันกว้างใหญ่ไพศาลถ้วนทั่วนั้น

หลังอุปสมบท ท่านยิ่งเพิ่มทวีศึกษาทางพระพุทธศาสนาทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระมีความรู้แตกฉานจนจบโดยเฉพาะบาลีแบบรามัญ ท่านมีความสามารถมาก แต่ยังไม่ทันได้สอบ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีบัญชาให้เลิกการสอบแบบปากเปล่า และทรงยกเลิกการสอบแบบปากเปล่าทั้งทางบาลีไทยด้วย ให้สอบโดยการขีดเขียนแทนแบบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้

ต่อมาท่านพิจารณาเห็นว่า สิ่งที่จะทำให้ล่วงพ้นความทุกข์ไปได้นั้นก็คือ การมุ่งศึกษาทางปฎิบัติธรรมกัมมัฎฐาน จึงมุ่งกลับไปศึกษาทางวิปัสสนากรรมฐานโดยการค้นคว้าด้วยตนเองจากตำราภาษารามัญจนมีความเข้าใจเป็นอย่างดี จึงแสวงหาอาจารย์ผู้ทรงคุณในทางปฎิบัติ ท่านจึงเดินทางไปศึกษากับ "หลวงพ่อหลิม" วัดทุ่งบางมด (ปัจจุบันคือ“วัดโพธิ์ทอง”) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่มีความสามารถทางวิปัสสนาสูงและเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางพุทธเวทย์วิทยาคม อันมีชื่อเสียงเกรียงไกรในยุคนั้น จนกล่าวเป็นคำพูดว่า " หลวงพ่อหลิม วัดทุ่ง หลวงพ่อรุ่ง วัดท่าควาย" หลวงพ่อรุ่งนั้นหมายถึง หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ จ.สมุทรสาคร เกจิอาจารย์ที่โด่งดังในยุคเดียวกัน

หลวงปู่เย่อได้ขอศึกษาวิปัสสนากับหลวงพ่อหลิมจนท่านออกปากชมว่า หลวงปู่เย่อมีความพากเพียรดีมาก แม้จะมีอุปสรรคกีดขวางอย่างไร ก็พยายามฟันฝ่าเดินทางไปศึกษาโดยมิยอมลดละ ซึ่งในสมัยนั้นถนนหนทางก็มิใช่จะสะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ การเดินทางจากพระประแดงไปวัดทุ่ง บางมดจะต้องใช้เรือแจวไปกว่าจะถึงก็ใช้เวลานานหลายชั่วโมงทีเดียว

เมื่อสำเร็จทางวิปัสสนาจนมีความเชี่ยวชาญชำนาญดีแล้ว หลวงพ่อหลิมซึ่งมีความเมตตาหลวงปู่เย่อมากจึงได้ให้เรียนวิชาทางพุทธเวทย์วิทยาคมต่อจนเกิดความชำนาญสามารถทำเครื่องรางของขลังที่ได้เรียนมาใช้ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ จากนั้นจึงไปขอศึกษาวิชาจากอาจารย์ "กินรี" วัดบ้านเชียงใหม่ และ "อาจารย์พันธ์" วัดสะกา ซึ่งทั้ง 2 ท่านเป็นเถราจารย์ชาวรามัญที่มีความแก่กล้าทางคาถาอาคมไสยเวทย์มาก สามารถเสกสิ่งของให้มีชีวิตให้เห็นได้กับตาเช่นเดียวกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

หลวงปู่เย่อนับเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม มีความกรุณาต่อทุกคนที่ไปกราบไหว้ท่านโดยเท่าเทียมกัน ท่านเป็นผู้มีอารมณ์ดีเจรจาปราศรัยด้วยความเป็นกันเอง และไม่เคยอวดอ้างความเก่งกล้าใด ๆ ให้ใครรู้เห็น มีแต่คอยสั่งสอนอบรมศีลธรรมแก่ทุก ๆ คนที่ไปหาให้หมั่นทำคุณงามความดี

ต่อมาปี พ.ศ. 2518 ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พัดยศสีขาวฝ่ายวิปัสสนาในนาม“พระครูสังฆวุฒาจารย์” ท่านเป็นที่ศรัทธาของประชาชนจำนวนมาก โดยมีชีวิตยืนยาวอยู่จนถึงอายุ 94 ปีจึงมรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2524

วัตถุมงคลของหลวงปู่เย่อมีหลายชนิด เช่น พระปิดตา รูปหล่อ พระผงหลวงพ่อโต เหรียญรูปเหมือนซึ่งมีทั้งหมด 4 รุ่น เหรียญรุ่นแรกประสบการณ์มากมาย ราคาพุ่งไปไกลในทุกสนาม ถามหาไม่มีใครอยากปล่อยให้หลุดมือ เพราะอาจจะต้องไปเจอ “ของเก๊”

มงคลวัตถุของท่านสร้างด้วยความพิถีพิถันเป็นพิเศษทุกขั้น สร้างด้วยความตั้งใจจริง มีเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง มิได้สร้างเพื่อแสวงหา ผลประโยชน์ ดังนั้น มงคลวัตถุแต่ละอย่างของหลวงปู่เย่อจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยพุทธานุภาพอย่างเหลือล้น มีประสบการณ์มากมาย สามารถคุ้มครองป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน ให้แคล้ว คลาดปราศจากภัยต่างๆได้อย่างวิเศษ

ทั้งนี้ หลวงพ่ออินเทวดาท่านเป็นหนึ่งในอาจารย์ของ"หลวงพ่อสุพจน์ จนฺทูปโม" วัดศรีทรงธรรม ต.บึงปลาทู อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ พระเกจิอาจารย์เลื่องชื่อทั้งทางด้านคงกระพันและมหาเสน่ห์ โชคลาภ ซึ่งถึงกาลมรณภาพลวด้วยวัย 71ปี เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 66 ผ่านมา

#ฉัตรสยาม



 
 
 

Comments


  • generic-social-link
  • generic-social-link
  • youtube

©2020 by kampeenews. Proudly created with Wix.com

เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดสระบุรี คนทั่วไปจะต้องคิดถึง “รอยพระพุทธบาท” ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่ง เดียวในประเทศไทย ที่มีรอยพระพุทธบาทของแท้ประทับรอยอยู่ ในแต่ละปีจะมีทั้งพระภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไป ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศตั้งใจเดินทางมากราบนมัสการ เพราะถือว่าหากได้เดินทางไปกราบรอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีแล้ว เป็นมงคลสูงสุดในชีวิตก็ว่าได้

 ไม่ใช่ว่าสระบุรีจะมีแต่สถานที่เท่านั้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พระเกจิอาจารย์ของสระบุรีที่มากไปด้วยประสบการณ์ ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันโด่งดังไปทั่วภูมิภาคและในท้องถิ่นมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ หลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ, พระอุปัชฌาย์กาน วัดโคกโพธิ์, อุปัชฌาย์ตัน วัดอู่ตะเภา, หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย, หลวงพ่อย้อย วัดอัมพวัน และหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง เป็นต้น

 และยังมีพระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ข้อวัตรงดงามยิ่ง โดยเฉพาะวางอุเบกขาได้อย่างยอดเยี่ยม เปี่ยมด้วยความเมตตาบารมีแก่คนทุกชั้นทุกกระดับอย่างเสมอภาค พระสงฆ์รูปนั้นคือ “พระครูอรรถธรรมาทร” หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า “หลวงพ่อเฮ็น แห่งวัดดอนทอง” ตำบลดงตะงาว อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านถึงจะสร้างไว้ไม่เก่ามาก แต่ความนิยมในหมู่นักสะสมก็ไม่ธรรมดา

 โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นแรก” และ “พระกริ่งดอนทอง” สนนราคาเล่นหาสูงขึ้นเรื่อย

 ตามประวัติ หลวงพ่อเฮ็นท่านถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2454 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 1 ปีกุน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โยมบิดาชื่อนายอยู่ โยมมารดาชื่อนางเขียว ศิริวงษ์ ซึ่งมีอาชีพเกษตรกร

 เมื่ออายุได้ 8 ขวบได้ ไปศึกษาอักขระสมัยทั้งไทยและขอมกับพระอาจารย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งอยู่ไกล้บ้านของท่าน พออ่านออกเขียนได้ก็ลาจากวัดมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ ท่านเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง ใจคอกล้าหาญอดทนกว้างขวางมีพรรคพวกเพื่อนฝูงมาก ยุคนั้นบ้านกะวาปาลาย แขวงเมืองกำพงธม เป็นแดนนักเลงหัวไม้ มีทั้งชนไก่กัดปลา ข้องอ้อย ฯลฯ เวลามีงานวัดมักจะนัดตีกันเป็นประจำ

 สำหรับนายเฮ็นพรรคพวกเพื่อนฝูงย่องให้เป็นลูกพี่ ด้วยเหตุนี้ทำให้บิดามารดาวิตกเกรงว่าหนทางข้างหน้าอาจจะเสียคน เพราะคบเพื่อนไม่เลือกว่าคนดีคนพาล ต่อมาเมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2474 ปีมะแม เมื่อนายเฮ็นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ บิดามารดาจึงทำการอุปสมบทให้ ณ พัทสีมาวัดพรรณนารายณ์ ตำบลกะวา อำเภอปาลาย แขวงเมืองกัมพงธม ประเทศกัมพูชา (เขมร) โดยมี พระอุปัชฌาย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มั่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์ให้ฉายว่า “สิริวังโส”

 เมื่อบวชแล้วก็จำพรรษาอยู่ที่วัดพรรณนารายณ์ ทำอุปัชฌาย์วัตรอาจาริยวัตรตามธรรมเนียมพระนวกะผู้บวชใหม่ และศึกษาพระธรรมวินัยท่องบ่นสวดมนต์จนจบทุกยุคทุกคัมภีร์ มีอุตสาหะจดจำได้แม่นยำและเกิดเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง

 สิ่งสำคัญได้ศึกษาเล่าเรียนในด้านคาถาอาคมจนมีความชำนาญ เจนจัดด้านวิชาแขนงต่างๆ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อแก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว ท่านจึงได้ตัดสินใจออกธุดงค์รอนแรมมาตามป่าและภูเขาเพื่อแสวงหาที่สงบวิเวกบำเพ็ญสมณธรรม และปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ต่อมาได้อยู่จำพรรษาที่ “วัดดอนทอง” เมื่อปี 2479 ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่นั่นได้เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านดอนทองมาก ด้วยมีศีลาจารวัตรงดงาม ครั้นเมื่อ หลวงพ่อแพ เจ้าอาวาสวัดดอนทอง มรณภาพลง ชาวบ้านได้นิมนต์หลวงพ่อเฮ็น ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา ปี 2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูอรรถธรรมทร”

 หลวงพ่อเฮ็น ได้สร้างมงคลวัตถุไว้หลายรุ่นหลายแบบ อาทิ ผ้ายันต์อุษาสวรรค์ มีพุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตามหานิยม มีความเชื่อว่า เมื่อต้องการใช้ก่อนออกจากบ้าน ให้นำผ้ายันต์อุษาสวรรค์ เช็ดหน้าจากซ้ายไปขวาสามครั้ง ว่ากันว่าจะมีเสน่ห์ไปตลอดทั้งวัน

 หลวงพ่อเฮ็นมรณภาพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 สิริอายุได้ 89 ปี

 สำหรับวัตถุมงคล “ผ้ายันต์อุษาสวรรค์” นั้น เซียนพระเครื่องต่างเสาะแสวงหาสะสมกันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เหรียญรุ่นแรก “เหรียญเสมาหลวงพ่อเฮ็นรุ่นแรก ปี 2529” ยังที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คณะศิษย์จัดสร้างถวายมุทิตาสักการะในโอกาสครบรอบอายุ 75 ปี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปใบเสมา มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเหรียญเนื้อทองแดง

 ด้านหน้าเหรียญตรงกลาง เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเฮ็นนั่งขัดสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ 3 ชั้น ด้านใต้ฐานอาสนะเขียนคำว่า “หลวงพ่อเฮ็น สุวรรณศรัทธา” ด้านในขอบโค้งใบเสมาด้านซ้ายล่าง เขียนว่า “พ.ศ.๒๕๒๙” ส่วนด้านขวาของเหรียญเขียนว่า “อายุ ๗๕ ปี” ด้านหลังเหรียญ ตรงกลาง เป็นยันต์ ด้านบนยันต์เขียนว่า “วัดดอนทอง” ขอบโค้งด้านล่าง เขียนคำว่า “ต.ดงตะงาว กิ่ง อ.ดอนพุด จ.สระบุรี” ถือเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมในวงการ มีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้านทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย

 ส่วนวัตถุมงคลที่กำลังมาแรงอีกพิมพ์ "พระกริ่งดอนทอง" เป็นรุ่นแรกที่สร้างในวาระหลวงพ่อเฮ็น ครบ 7 รอบ 84 ปี นับเป็นวัตถุมงคลรุ่นพิเศษ ที่ท่านได้มอบหมายให้สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันสมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งด้านรูปลักษณ์พิมพ์ทรงที่ได้เน้นความสวยงามคมชัด รวมทั้งในด้านเนื้อหาซึ่งได้มอบชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งแผ่นจารตะกรุดสามพี่น้องของหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง ชนวนกริ่งญาณวิทยาคมพร้อมตะกรุดสาม กษัตริย์ของหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา และแผ่นจารตะกรุดสามกษัตริย์ของหลวงพ่อเฮ็น

 ทั้งหมดได้นำมาหลอมผสมผสานเพื่อให้วัตถุมงคลรุ่นนี้ ทรงคุณวิเศษยิ่งควรค่าแก่การบูชา ได้ผ่านพิธีมหาพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2537 จุดประสงค์ในการสร้างเพื่อสมทบทุนการศึกษาเด็กนักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ สมทบทุนอาหารกลางวัน และจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ วัตถุมงคลรุ่นนี้ผู้ที่มีไว้ครอบครองเคยมีประสบการณ์กันมาแล้วในหลายๆด้าน เด่นทางเมตตา มหานิยม ค้าขาย แคล้วคลาด โชคลาภ

 “พระกริ่งดอนทองรุ่นแรก” ที่จัดสร้างขึ้นเนื้อทองคำ สร้างจำนวน 84 องค์ เนื้อเงินจำนวน 500 องค์ เนื้อนวะจำนวน 500 องค์ เนื้อทองเหลืองจำนวน 200 องค์ ด้านหลังตอกโค้ด “นะ พุท ธา” ชัดเจน เป็นวัตถุมงคลที่มาแรง พิมพ์สวยมีอนาคต ของปลอมแปลงยังไม่มี สนนราคาวิ่งแบบไม่คงที่ ขึ้นติดอยู่ในระดับหลักพันกลางๆ  

 วัตถุมงคลของหลวงพ่อเฮ็นจึงเปี่ยมล้นด้านพุทธคุณ ทั้งคลาดแคล้วคงกระพันชาตรี, เมตตาค้าขายมหาเสน่ห์ และแก้อาถรรพณ์มนต์ดำขับไล่เสนียดจัญไรทั้งปวง เก็บสะสมไว้ไม่มีคำว่าผิดหวัง ในไม่ช้าไม่นานจะกลายเป็นวัตถุมงคลที่มากด้วยราคาและหายากยิ่ง

 นักสะสมมือใหม่รีบหาไว้บูชาด่วน!!!

bottom of page