top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 17 ก.ย. 2566 "หลวงพ่อสุ่น สุนทโร"วัดบางปลาหมอ อยุธยา

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"

ประจำวันอาทิตย์ที่ 17 ก.ย. 2566

"หลวงพ่อสุ่น สุนทโร"วัดบางปลาหมอ อยุธยา

เกจิหมอยาแก่กล้าอาคม-เชี่ยวชาญกรรมฐาน

พระอาจารย์ของ"หลวงพ่อปาน-หลวงพ่อจง"

"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ

หลวงพ่อสุ่น สุนทโร พระอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวัดบางปลาหมอ อ.บางบาล จ.พระนคร ศรีอยุธยา ผู้เป็นพระอาจารย์ของ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก 2 สุดยอดพระเกจิอาจารย์ดังของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หลวงพ่อสุ่นถึงแม้ชื่อเสียงท่านจะไม่โด่งดังเท่ากับศิษย์รักทั้ง 2 องค์ แต่ในตัวหลวงพ่อเองจัดว่าเป็นพระอาจารย์ที่สำเร็จกรรมฐาน เป็นพระหมอยาที่มีชื่อเสียงมาก เมื่อครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่ชาวอำเภอเสนา อำเภอบางบาล บางไทร และใกล้เคียงต่างก็เคารพรักศรัทธาในตัวท่านมาก

ในสมัยที่หลวงพ่อสุ่น เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้เจริญรุ่งเรืองมาก เนื่องจากชาวบ้านและมีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านมาก จะมีคนมาฟังเทศน์ และมาให้หลวงพ่อช่วยบำบัดรักษา โรคภัยไข้เจ็บอยู่เสมอ

ประวัติของหลวงพ่อสุ่นนั้นเลือนรางมาก มีแต่การเล่าต่อๆ กันมาอีกทีหนึ่ง ที่พอจะสันนิษ ฐานจากรูปถ่ายปีพ.ศ.ที่ถ่ายไว้ และประมาณอายุของท่านในตอนที่ได้ถ่ายรูปนั้น ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า หลวงพ่อสุ่นน่าจะเกิดในราวปี พ.ศ.2358

จากพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เรื่องประภาสต้น น่าจะพอสันนิษฐานได้ว่า หลวงพ่อสุ่นองค์นี้เป็นพระญาติสมเด็จพระปวเรศ (ฝ่ายเจ้าจอมมารดา ของสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) โดยพิจารณาประกอบกับคำบอกเล่าของบรรพชนรุ่นเก่าที่เล่าสืบต่อกันมา ผนวกกับหลักฐานเครื่องใช้ตำรับตำราส่วนพระองค์ของท่านยังพอมีอยู่ ณ วัดบางปลาหมอ

หลวงพ่อสุ่นเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อปั้น วัดพิกุลโสคันธ์ และหลวงพ่อเนียม วัดน้อย สุพรรณบุรี จากคำบอกเล่าของชาวบ้านและหลวงพ่อฤๅษีลิงดำผู้เป็นศิษย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ซึ่งได้รับการบอกเล่าต่อมาจากหลวงพ่อปานก็พอจะได้เค้าลางว่า หลวงพ่อสุ่นเป็นพระเกจิอาจารย์ที่แก่กล้าในด้านวิทยาคม และวิชารักษาคนป่วยไข้ มีผู้มาบวชกับหลวงพ่อสุ่นอยู่มาก และหลวงพ่อสุ่นก็เป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

เมื่อหลวงพ่อปานมาบวชอยู่กับหลวงพ่อสุ่นแล้ว ท่านก็ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาคมต่างๆกับหลวงพ่อสุ่น ซึ่งหลวงพ่อสุ่นได้ถ่ายทอดวิทยาคมให้แก่หลวงพ่อปานจนหมดสิ้น หนึ่งในนั้นก็เป็นวิชารักษาคนเจ็บไข้ ซึ่งมีผู้คนเข้ามาให้หลวงพ่อสุ่นช่วยปัดเป่ามากแต่ละวัน เมื่อท่านเห็นว่าหลวงพ่อปานท่านพอที่จะรักษาคนป่วยได้แล้ว

ท่านจึงให้หลวงพ่อปานรดน้ำมนต์ให้แก่คนไข้ หลวงพ่อปานก็เห็นว่าน้ำมนต์ในตุ่มเหลือน้อย หลวงพ่อปานก็กำลังจะไปตักน้ำเติมในตุ่มเพื่อทำน้ำมนต์ แต่หลวงพ่อสุ่นห้ามไว้ และให้หลวงพ่อปานรดน้ำมนต์เลย เมื่อหลวงพ่อปานรดน้ำมนต์ไปเรื่อยๆ ซึ่งมีผู้คนมาให้รดน้ำมนต์ประมาณ ๕๐ คน

แต่น้ำมนต์ในตุ่มกลับลดลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลังจากนั้นหลวงพ่อปานจึงถามหลวงพ่อสุ่นว่าทำไมน้ำมนต์ไม่ลดลงเลย หลวงพ่อสุ่นจึงบอกว่า “ฉันเอาใจตักแล้ว” จากนั้นท่านจึงสอนวิชาตักน้ำให้หลวงพ่อปาน

หลวงพ่อสุ่นเวลาที่จะรักษาคนไข้ท่านก็จะตรวจดูด้วยญาณก่อนเสมอว่าได้หรือไม่ ถ้าได้ท่านก็จะรักษาให้หายได้ทุกราย นอกจากคนที่ถึงฆาตแล้วจริงๆ เท่านั้น มีผู้คนทั้งไกลและใกล้จนถึงบางกอกทยอยเข้ามาให้หลวงพ่อสุ่นรักษาทุกๆวันไม่ขาด

ท่านเป็นที่รักเคารพศรัทธาของชาวบ้านมาก ท่านจะสร้างสิ่งใดก็จะเข้ามาช่วยเหลือร่วมมือกันกระทำจนสำเร็จทุกเรื่อง หลวงพ่อสุ่นได้สร้างเสนาสนะ ศาลาการเปรียญ พระอุโบสถ วิหาร พระไสยาสน์ และองค์พระเจดีย์ วัดบางปลาหมอก็มีความเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น

ก่อนที่หลวงพ่อสุ่นจะมรณภาพ ท่านเคยบอกแก่หลวงพ่อปานว่าถ้าท่านสิ้นไปแล้ว ให้หลวงพ่อปานไปเรียนกับหลวงพ่อเนียม วัดน้อยต่อ เนื่องจากท่านทั้งสองรูปนี้สนิทสนมกันมาก

การมรณภาพของท่านมีผู้สันนิษฐานไว้ว่า ปีมรณภาพของหลวงพ่อสุ่นนั้น ก็น่าจะประมาณปลายปี 2450 ถึงกลางปี 2451 เพราะมรณะก่อนที่หลวงพ่อเนียม วัดน้อย จ.สุพรรณบุรี จะมรณภาพไม่นาน (ตามหนังสือประวัติหลวงพ่อปาน ท่านบอกกับหลวงพ่อปานว่า “ถ้าพ่อตายแล้ว ให้ไปหาท่านเนียมนะ ท่านก็เก่งเหมือนกัน” แล้วหลวงพ่อปานก็ได้เรียนวิชาอยู่กับหลวงพ่อเนียมได้อีกไม่นาน หรือประมาณ 3 เดือน แล้วหลวงพ่อเนียมก็มรณภาพลง)

แต่อีกหลักฐานที่ยังพอเหลืออยู่ก็ทำให้สันนิษฐานต่อได้ว่า หลวงพ่อสุ่นน่าจะมรณภาพในราวปีพ.ศ.2447 สิริอายุราว 89-90 ปี

หลวงพ่อสุ่นท่านละสังขารในท่าเข้านอนสีหไสยาสน์ ระงับเวทนาและท่านก็เข้านิโรธออกไปเลย ซึ่งท่าละสังขารของหลวงพ่อสุ่นไม่ใช่เป็นการจัดการศพหลังจากท่านมรณภาพ เพราะร่างกายจะแข็ง จัดห่มคลุม จัดท่าได้ยาก แต่ท่านได้ห่มคลุมจีวรเรียบร้อยแล้วค่อยละสังขารไป ซึ่งการละสังขารในท่าสีหไสยาสน์นี้นอกจากหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอแล้ว ยังมีหลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี อีกองค์หนึ่งที่ได้มรณภาพไปในอิริยาบถเดียวกัน อีกทั้งท่านทั้งสองยังเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อปานเช่นเดียวกันอีกด้วย

สำหรับวัตถุมงคลที่หลวงพ่อสุ่นสร้างไว้นั้น เท่าที่สอบถามจากผู้รู้มีพระเนื้อดิน 3 แบบ คือ

1. พิมพ์กลีบบัว แตกกรุจากเจดีย์หน้าโบสถ์ เมื่อปีพ.ศ.2494 ลักษณะเป็นทรงแบบกลีบบัว เนื้อพระสีแดง แบบพระเนื้อดินเผาทั่วไป กับอีกสีหนึ่งคือสีดำเนื้อละเอียด พุทธลักษณะด้านหน้าเป็นองค์พระปฏิมานั่งปางสมาธิเพชร พระพักตร์กลม ไม่มีพระเนตรและพระโอษฐ์ ลักษณะลำพระองค์กลมหนา พระชานุ (เข่า) โตทั้งสองข้าง ไม่มีอาสนะเนื้อพระแห้งสนิทอัดแน่น

2.พิมพ์กลีบบัวฟันปลา พิมพ์กลีบบัวปลายแหลม กรุแตกขณะรื้อวิหารพระพุทธไสยาสน์องค์เล็กที่ทรุดโทรมเมื่อปี พ.ศ.2528 พระบรรจุอยู่ในตุ่มใบเล็กๆ ตรงช่วงหมอนรองรับพระเศียรของพระพุทธไสยาสน์ มีพระอยู่ 300 องค์เท่านั้น ลักษณะพระพิมพ์กลีบบัวฟันปลา คล้ายกับพิมพ์กลีบบัว แต่ด้านบนสุดจะป้านไม่แหลมเหมือนกลีบบัว คือไม่ได้ตัดกรอบพิมพ์ ฐานล่างใต้อาสนะเป็นกลีบบัวเล็กๆ สลับกัน องค์พระอวบหนา พระชานุโต (เข่า) ส่วนพระพิมพ์กลีบบัวปลายแหลม คล้ายพิมพ์กลีบบัว เนื้อพระออกแห้ง บางองค์ออกสีแดง สีเหลืองบ้าง บางองค์ก็มีดำแทรก จะปรากฏคราบกรุจากดินปลวกบ้างประปราย แต่บางองค์ก็ไม่มี

นอกจากพระเนื้อดินแล้ว ต่อมาทางวัดบางปลาหมอยังได้จัดทำเหรียญของหลวงพ่อสุ่นออกมาอีกหลายรุ่น โดยรุ่นแรกสร้างเมื่อปี พ.ศ.2508 เป็นเหรียญเสมาหลวงพ่อสุ่น เนื้อเงิน และทองแดง สร้างโดยพระครูสิริพัฒนกิจ วัดโคกเสือ เมื่อครั้งมารักษาการเจ้าอาวาส ต่อมาปี พ.ศ.2520 สมัยพระครูโกวิทวิหารการ เป็นเจ้าอาวาส ได้จัดสร้าง เหรียญเสมา2หน้า เนื้อทองแดง ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อสุ่นนั่งเต็มตัว ด้านหลังเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

ปี พ.ศ.2525 ทางวัดได้สร้างเหรียญอาร์ม เนื้อทองแดง ที่ระลึกหารายได้บูรณะซ่อม แซมพระพุทธไสยาสน์ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อสุ่นครึ่งองค์ ด้านหลังเป็นยันต์ ระบุวันที่จัดสร้าง วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2526 หลังจากนั้น ปี พ.ศ.2532 จัดสร้างรูปหล่อหลวงพ่อสุ่น เนื้อทองแดง หน้าตัก 5 นิ้ว และรูปหล่อชุด 3 คณาจารย์ คือ หลวงพ่อสุ่น หลวงพ่อจง และหลวงพ่อปาน นอกจากนี้ ยังมีรูปหล่อลอยองค์เล็ก เนื้อเงินแท้กับเนื้อทองแดง และเหรียญ 5 เหลี่ยมเนื้อทอง แดงอีกหนึ่งชุด

วัตถุมงคลทุกรุ่นได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะพระเนื้อดินหายากมาก ชาวบ้านบางปลาหมอต่างหวงแหนอย่างที่สุด เพราะ มีประสบการณ์ดีในด้านแคล้วคลาด คง กระพันชาตรี นอกจากนี้ ยังเล่าขานกันว่าพระเครื่องของท่านสามารถป้องกันภัยจากลมพายุฝนฟ้าคะนองได้ดีเยี่ยม เนื่องจากชื่อเสียงท่านไม่ขจรขจาย เป็นเพียงพระเกจิอาจารย์ดังในท้องถิ่นจึงทำให้ผู้คนไม่ค่อยรู้จักวัตถุมงคลของท่าน แต่หากพบเจอที่ไหน เก็บไว้ให้ดีๆจะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก

#ฉัตรสยาม


ดู 146 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page