top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 7 ม.ค. 2567 "หลวงพ่อทบ" วัดพระพุทธบาทชนแดน เกจิเมตตา-อาคมขลังเมืองมะขามหวาน

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"

ประจำวันอาทิตย์ที่ 7 ม.ค. 2567

"หลวงพ่อทบ" วัดพระพุทธบาทชนแดน

เกจิเมตตา-อาคมขลังเมืองมะขามหวาน

สมญานาม“เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำป่าสัก”

"ย้อนรอยเกจิ"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติอดีตพระเกจิชื่อดังผู้มีพลังจิตแก่กล้าแห่งเมืองมะขามหวาน.. หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ (พระครูวิชิตพัชราจารย์) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทชนแดน อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ พระเกจิอาจารย์ผู้มีพลังจิตแก่กล้าเหนือธรรมชาติอีกท่านหนึ่งที่เชื่อกันว่าท่านได้บรรลุธรรมชั้นสูงจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ มีผู้ให้ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสอย่างกว้างขวาง จนได้รับสมญา “เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำป่าสัก”

หลวงพ่อทบท่านเกิดเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2424 ที่บ้านยางหัวลม (ปัจจุบันคือ ต.วังชมภู) ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ บิดา-มารดาชื่อ นายเผือกและนางอินทร์ ม่วงดี ในช่วงวัยเยาว์เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี เมื่ออายุ 16 ปี บิดานำไปฝากให้ พระอาจารย์สี วัดช้างเผือก ต.วังชมภู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ให้บวชเป็นสามเณร ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและวิทยาคมจนแตกฉานจากพระอาจารย์สี

พ.ศ.2445 อายุครบ 21 ปีบริบูรณ์เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดศิลาโมง ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ มีพระครูเมือง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ปาน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สี เป็น พระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ธัมมปัญโญ" หมายถึง "ผู้มีความรู้ในพระธรรม"

หลังอุปสมบทกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดช้างเผือก และศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมจากพระอาจารย์สี พระอาจารย์ปาน และหลวงทศบรรณ ฆราวาสผู้มีอาคมแก่กล้า นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิปัสสนาจากพระครูเมืองจนเป็นที่เลื่องลือว่า “สามารถนั่งวิปัสสนาได้หลายวัน โดยไม่ฉันอาหารเลย”

จากนั้นได้ออกเดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ บำเพ็ญภาวนา แสวงหาสถานที่สัปปายะทำกัมมัฏฐาน ขณะเดียวกันได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านวิทยาคมจากพระเกจิอาจารย์ต่างๆ

ในขณะออกท่องธุดงค์ได้มีโอกาสพบกับหลวงพ่อเขียน ธัมมรักขิโต วัดสำนักขุนเณร จ.พิจิตร พระเกจิชื่อดังที่มีอายุและพรรษามากกว่า หลวงพ่อทบจึงเรียกขานหลวงพ่อเขียนว่า “หลวงพี่” ทุกครั้งไป

ทั้งสองท่านเป็นสหายธรรมที่ใกล้ชิดกันมากที่สุด โดยออกธุดงค์ บำเพ็ญเพียร และเจริญภาวนาไปจนถึงนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว

กระทั่งเห็นว่าสมควรแก่เวลาที่จะกลับสู่มาตุภูมิ จึงมุ่งหน้าเข้าประเทศไทยทางจ.ตราด สู่วัดศิลาโมง ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์

จากนั้นดำเนินการบูรณะวัดครั้งใหญ่ สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดบ่อน้ำ ประการสำคัญคือ สร้างอุโบสถจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ ใช้ประกอบศาสนกิจต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำในการก่อสร้างพระอุโบสถจนสำเร็จเรียบร้อยถึง 16 หลัง ทั้งยังวางศิลาฤกษ์หลังที่ 17 ไว้แล้วที่วัดช้างเผือก แต่มรณภาพเสียก่อน

ระหว่างท่องธุดงค์ยังได้พบพระเกจิดังหลายรูป อาทิ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และหลวงพ่อเง่า อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีภูมิ และรับถ่ายทอดพระเวทวิทยาคมต่างๆ อย่างครบถ้วน

พ.ศ.2490 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2497 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอชนแดน และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ พระครูวิชิตพัชราจารย์

จากนั้นกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระพุทธบาทเขาน้อย อำเภอชนแดน และกลับมาที่วัดช้างเผือกตามที่พระอาจารย์สีกล่าวฝากไว้ในอดีตว่า “หากจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้ว ก็ให้กลับมาพัฒนาวัดช้างเผือก อย่าปล่อยให้ร้าง”

วาระสุดท่ายท่านมรณภาพอย่างสงบเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2519 สิริอายุ 95 ปี พรรษา 74

หลังมรณภาพ คณะศิษยานุศิษย์ได้นำศพบรรจุไว้ในโลงแก้วตามคำสั่งสุดท้ายก่อนมรณภาพที่สั่งไว้ว่า “ห้ามนำร่างกายกูไปเผา ต่อไปในวันข้างหน้า ร่างกายนี้จะมีคุณประโยชน์ต่อวัด”

หลวงพ่อทบท่านเป็นพระที่มีเมตตา เยือกเย็นสุขุม ปรานีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย พูดน้อย ชอบการก่อสร้าง จะเห็นได้ว่าภายหลังจากที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว ได้ทำการก่อสร้างบูรณะวัดวาอาราม ไปตามสถานที่ต่างๆ ท่านได้เป็นผู้นำทำการก่อสร้างพระอุโบสถสำเร็จเรียบร้อยไปแล้วถึง 16 หลัง ทั้งยังได้วางศิลาฤกษ์หลังที่ 17 ไว้แล้วที่วัดช้างเผือกก็พอดีท่านมรณภาพเสียก่อน ทั้งนี้ไม่นับผลงานของท่านอีกมากมาย เช่น กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ บ่อน้ำ สระน้ำ และอื่นๆ อีก

คุณวิเศษอีกอย่างหนึ่งของหลวงพ่อทบก็คือ ท่านเป็นพระภิกษุที่ไม่เลือกชั้นวรรณะ ตลอดชีวิตของท่านให้การต้อนรับบุคคลทั้งหลายเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการมียศถาบรรดาศักดิ์ใหญ่โตเพียงใด มั่งมีหรือยากจน ผู้ใดเดินทางไปกราบท่านก็จะได้รับการต้อนรับเท่าเทียมกันหมด ไม่มียินดียินร้ายหรือทะเยอทะยานในลาภ ยศ สรรเสริญ ตรงกันข้าม เมื่อผู้ใดมีความทุกข์ไปหาท่าน ก็จะได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี

ที่สำคัญ ท่านเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ไม่นิยมการสะสมเงินทองหรือทรัพย์สมบัติใดๆ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อท่านมรณภาพแล้วจึงไม่มีทรัพย์สินใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางโลกอันเป็นส่วนตัวของท่านเลยแม้แต่น้อย

ด้านวัตถุมงคลหลวงพ่อทบมีทั้งรูปหล่อโลหะ, เหรียญ ตะกรุด แหวน ฯลฯ ทั่งที่ออกในนาม

วัดพระพุทธบาทชนแดน และวัดช้างเผือกเป็นที่กล่าวขวัญถึงประสบการณ์ของผู้บูชาอยู่ เป็นเนืองนิตย์ โดยเฉพาะในด้านแคล้วคลาดคงกระพัน และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมาตราบจนปัจจุบันนี้

"นายขุนโหร"


ดู 49 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page