top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

ตำนานชีวิต"หลวงปู่คำจันทร์ ปัญญาโภ" อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านเมย จ.กาฬสินธุ์

ตำนานชีวิต"หลวงปู่คำจันทร์ ปัญญาโภ"

อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านเมย จ.กาฬสินธุ์

เกจิดังสมญานาม"หลวงปู่ฟอร์จูนเนอร์"

ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ร่วมย้อนตำนานชีวิต น้อมถวายความอาลัยในการจากไปของ พระครูปริยัตยานุวัตร หรือ “หลวงปู่คำจันทร์ ปัญญาโภ” วัดบ้านเมย ต.ดงลิง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์

ซึ่งละสังขารลงด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา 11.05 น. ณ วัดบ้านเมย สิริอายุ 92 ปี 72 พรรษา

ท่านมีนามเดิม "คำจันทร์ ทองห้า" เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ส.ค.2475 ที่บ้านสวนโคก ต.ดงลิง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ บิเาชื่อ นายพรหมและมารดาชื่อนางคำมา มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 5 คน ช่วงวัยเยาว์ มีนิสัยชอบสันโดษ ไม่ค่อยซุกซนเหมือนเด็กวัยเดียวกัน บิดามารดาพาไปทำบุญที่วัดบ้านสวนโคกอยู่เสมอ ต่อมาเข้าเรียนที่โรงเรียนสวนโคกเมยวิทยา (ชื่อเดิม) จนจบชั้น ป.4 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนในตอนนั้น

ท่านเป็นคนเรียนเก่ง ฉลาดเฉลียว เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ชอบช่วยเหลืองานการของบิดามารดาอย่างดี หลังจากจบชั้นป.4 ไม่ได้เรียนต่อด้วยฐานะทางบ้านยากจน จึงออกมาช่วยทำนา กระทั่งอายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ.2497 ที่วัดบ้านเมย อ.กมลาไสย จ.กาฬ สินธุ์ มีพระครูสถิตปุญญาคม เจ้าอาวาสวัดบ้านสวนโคก และเจ้าคณะตำบลดงลิง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์มี ปภากโร วัดบ้านโนนเมือง และพระอาจารย์สุวิทย์ วัดบ้านดอนหวาย เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พ.ศ.2503 สอบได้นักธรรมชั้นตรี–โท–เอก พ.ศ.2505 ได้รับแต่งตั้ง เจ้าอาวาสวัดบ้านเมย และแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลดงลิง พ.ศ.2511 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2516 ได้พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นตรี ในราชทินนามที่ "พระครูปริยัตยานุวัตร" พ.ศ.2538 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นโท ในราชทินนามเดิม ซึ่งตอนนั้นจำพรรษาที่วัดสมัยสำราญ อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย

นอกจากนี้ ยังให้ความสนใจด้านวิทยาคม โดยไปฝากตัวเป็นศิษย์กับพระเกจิดังหลายรูป อาทิ พระครูสถิตย์ปุญญาคม เจ้าอาวาสวัดบ้านสวนโคก, หลวงปู่แพง วัดโพธิ์ร้อยต้น อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด, หลวงปู่ปัน วัดโพธิ์ศรีบึงไฮ ต.หลักเมือง อ.กมลาไสย จ.กาฬ สินธุ์,หลวงปู่ศรี ถ้ำภูเขาควาย ประเทศลาว, หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี, หลวงพ่อเก้า วัดบ้านโพนงาม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์, หลวงปู่ทองมา ถาวโร วัดสว่างทาสี อ.เสลภูมิ จ.ร้อย เอ็ด เป็นต้น

พ.ศ.2520 ธุดงค์ไปจำพรรษาที่วัดสมัยสำราญ อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย 12 ปี แล้วออกธุดงค์ไปยังสถานที่อื่นๆหลายต่อหลายแห่ง จำพรรษาอยู่ที่ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ 1 ปี หลังจากนั้นได้ธุดงค์กลับมาภาคอีสาน จำพรรษาอยู่ที่วัดห้วยพรหม อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมากับพระครูประโชติสังฆกิจ และที่วัดแห่งนี้ได้เรียนวิชาแพทย์แผนไทย การใช้สมุนไพรรักษาคนป่วยจนมีชื่อเสียง

จากนั้นออกธุดงค์หาที่สงบเพื่อจำพรรษาไปอีกหลายที่ จนมาถึงบ้านฝาง อ.กระนวน จ.ขอน แก่นได้เข้าจำพรรษาที่วัดศูนย์ปฏิบัติธรรมอยู่ 12 ปี พัฒนาจนวัดมีความเจริญรุ่งเรือง นำญาติโยม สร้างอุโบสถ และศาลาการเปรียญจนแล้วเสร็จ หลังจากนั้นชาวบ้านเมยเห็นว่าท่านอายุมากแล้ว จึงนิมนต์ให้กลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านเมย

ด้วยความเมตตาของท่านที่คอยช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากอย่างเต็มที่ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง จนชื่อเสียงของหลวงปู่โด่งดังขจรขจายไปทั่วทุกทิศ ทำให้มีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากเข้ามากราบฝากตัวเป็นศิษย์ และขออนุญาตสร้างวัตถุมงคลหลายรุ่น เช่น เหรียญรูปไข่ครึ่งองค์ เหรียญรูปทรงน้ำเต้า, ล็อกเก็ต, ตะกรุด,พระอุปคุต ฯลฯเพื่อแจกจ่ายญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด

วัตถุมงคลของหลวงปู่คำจันทร์ทุกรุ่น ล้วนมีประสบการณ์กับผู้ที่ติดตัวบูชา ทั้งแคล้ว คลาด คงกระพันชาตรี เมตตา ค้าขาย เมตตามหานิยม โชคลาภ เรียกได้ว่าพุทธคุณครอบจักรวาล

ทั้งนี้ หลวงปู่คำจันทร์ ได้รับการเรียกขานว่า"หลวงปู่ฟอร์จูนเนอร์" สืบเนื่องจากเหตุการณ์รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ บรรทุกเมล็ดถั่วเหลืองมาเต็มคันรถพลิกตะแคงทับรถฟอร์จูนเนอร์ ขณะที่กำลังขับเข้ามาในถนนประชาพัฒนา ช่วงโค้งโรงเรียนวัดพลมานีย์ เขตลาดกระบัง จนรถฟอร์จูนเนอร์แบนติดพื้น โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 แต่คนขับรถคือนายวรวุฒิ อยู่ญาติมาก ซึ่งเป็นลูกเขยบ้านเมย ทำงานที่การบินไทยกลับไม่เป็นอะไรเลย โดยมีตะกรุดของหลวงปู่คำจันทร์ติดรถบูชา จึงเป็นที่มาของ"หลวงปู่ฟอร์จูนเนอร์" ตั้งแต่นั้นมา


ดู 153 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page