"หลวงปู่สมบุญ ปิยธัมโม" วัดลำพันบอง
เกจิ5แผ่นดินเมืองสุพรรณ-อายุยืน102ปี
พลังศรัทธาบารมีเปิดสุดๆ/วัตถุมงคลมาแรง!
ในห้วงเวลานี้ถือว่าท่านเป็นพระเกจิอาวุโสที่มาแรงสุดๆ สำหรับพระครูสุวรรณธรรมานุยุต หรือ "หลวงปู่สมบุญ ปิยธมโม" อายุ 102ปี เจ้าอาวาสวัดลำพันบอง ต. หนองโพธิ์ อ.หนองหญ้าไซ จ. สุพรรณบุรี เกจิดังร่วมสมัยกับ"หลวงปู่พัฒน์ ปุญญกาโม" วัดธารทหาร(ห้วยด้วน) จ.นครสวรรค์ กล่าวได้ว่า บารมีท่านเปิดสุดๆ ถนนทุกสายวิ่งเข้าเมืองสุพรรณฯ บรรดานักสร้างต่างพุ่งเป้าเข้าไปขออนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคล
ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ขอร่วมเผยแพร่ประวัติเกียรติคุณของพระดีเกจิดัง 5แผ่นดินแห่งเมืองสุพรรณ ตำนานขุนช้างขุนแผน...พระครูสุวรรณธรรมานุยุต หรือ "หลวงปู่สมบุญ ปิยธมโม" อายุ 102ปี เจ้าอาวาสวัดลำพันบอง ต. หนองโพธิ์ อ.หนองหญ้าไซ จ. สุพรรณบุรี ศิษย์เอกพุทธาคมหลวงปู่กัณหา อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสะแกและวัดดอนมะเกลือ
ที่สำคัญ หลวงปู่สมบุญท่านเกิดเดือนเดียวและปีเดียวกับ"หลวงปู่พัฒน์ ปุญญกาโม" วัดธารทหาร(ห้วยด้วน) จ.นครสวรรค์ คือเดือนพฤษภาคม ปีพ.ศ.2465 ท่านทั้งสองจึงนับเป็นเกจิ5อาจารย์แผ่นดินที่มีอายุยืนยาวย่างเข้า 102 ปี
ท่านเป็นคนไทยเชื้อสายลาว เกิดเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2465 ปีจอ ภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านหนองอีเงิน ต.ห้วยขมิ้น อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี (ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.ด่านช้าง)
บิดาชื่อ"นายคำ" มารดาชื่อ "นางถิน" นามสกุล"ชมชื่น" อาชีพทำไร่ ทำนา ท่านเป็นลูกคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งสิ้น 6 คน
ในวัยเด็กเรียนหนังสือกับพระที่วัดวังกุ่ม ต.ห้วยขมิ้น ประมาณ 1 ปี เมื่ออายุครบ 20 ปีได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดป่าสะแก อ. เดิมบาง จ. สุพรรณบุรี โดยมีพระครูวิสิทธิ์สิทธิการ (หลวงพ่อเพชร ) เจ้าอาวาสวัดป่าสะแก เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อรวม รองเจ้าอาวาส วัดป่าสะแก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อกัณหา เจ้าอาวาส วัดดอนมะเกลือ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา "ปิยธมโม"
หลังบวชได้อยู่จำพรรษาที่วัดป่าสะแก ศึกษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติธรรม เรียนภาษาบาลีด้วยความเคร่งครัด ก่อนย้ายไปจำพรรษาอยู่อีกหลายวัด เช่น วัดดอนมะเกลือ,วัดวังคัน, วัดวังกุ่ม, วัดดอนเก้า โดยในปีพ.ศ. 2497 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนมะเกลือ รวมเวลาในการจาริกจำพรรษายังอารามต่างๆ ประมาณ 13 พรรษาเศษ
ปี พ.ศ. 2499 ท่านได้ลาสิกขาบทเพื่อมาดูแลโยมทั้งสองที่ชราภาพ และได้แต่งงานมีครอบครัว มีบุตร 1 คน แล้วย้ายนิวาสถานมาเปิดกิจการขายของที่บ้านทับละคร เขตอ.ด่านช้าง ต่อมาภรรยาและบุตรได้เสียชีวิตลงทั้งคู่ด้วยไข้ป่า
ต้นปีพ.ศ. 2501 ท่านจึงอุปสมบทอีกครั้งที่วัดป่าสะแก โดยมี พระอธิการกัณหา วัดป่าสะแก เป็นพระอุปัชฌาย์ (ภายหลังได้รับสมณศักดิ์ที่ พระครูสุขุมวิหารการ เจ้าคณะตำบลป่าสะแก) หลวงพ่อมณเฑียร วัดบ่อกรุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อเกลียว วัดดอนตาล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา "ปิยธัมโม"
จากนั้นได้จำพรรษาที่วัดป่าสะแก ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิชาอาคมต่างๆกับหลวงพ่อกัณหา เช่น วิชาเขียนเลขยันต์ วิชาทำตะกรุด วิชาทำน้ำมนต์ ไล่ภูตผีปีศาจ แก้คุณไสยวิชา เมตตามหานิยมวิชา คงกระพันชาตรี วิชานั่งกรรมฐานและวิชาแพทย์แผนโบราณ โดยออกธุดงค์รับใช้ครูบาอาจารย์ทุกๆปี
ต่มาได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดวังคอไห 1 พรรษา ย้ายไปวัดดอนมะเกลือ 2 พรรษา แล้วย้ายกลับมาอยู่วัดป่าสะแกอีก 4 พรรษา จนล่วงถึงปีพ.ศ.2507 จึงรับอาราธนามารักษาการเจ้าอาวาส วัดลำพันบอง เขต อ.หนองหญ้าไซ ซึ่งทรุดโทรมอย่างหนักในขณะนั้น ท่านและชาวบ้านได้ช่วยกันปฏิสังขรณ์เสนาสนะ กุฏิสงฆ์และอื่นๆ ตลอดจนพัฒนาถนนรอบๆบริเวณ วัดให้ชาวบ้านสัญจรไปมาอย่างสะดวกสบาย จนเป็นศูนย์รวมของชาวบ้านทั้งไกลและใกล้
จนกระทั่งวันที่ 3 ส.ค. 2511 ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดลำพันบอง ปีพ.ศ. 2519 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน ปีพ.ศ. 2526 ได้รับแต่งตั้งเป็น พระอุปัชฌาย์ ปีพ.ศ. 2535 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นโทที่"พระครูสุวรรณธรรมานุยุต" ปีพ.ศ. 2553 เลื่อนเป็นพระครูชั้นเอกในราชทินนามเดิม
หลวงปู่สมบุญท่านเป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จิตใจดี มีเมตตาธรรม ดำรงตนอย่างสมถะ อยู่อย่างเรียบง่าย ท่านชอบเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่อย่างพระธรรมดา เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติ
กิจวัตรที่ท่านกระทำมาโดยตลอดจนกระทั่งถึงวัยชราคือ การปัดกวาดลานวัด เมื่อถึงเวลาเย็นท่านจะเดินถือเสียมประจำตัวลงมานั่งยองๆ เพื่อถากหญ้าอยู่กลางลานวัด เป็นที่ชินตามาอย่างยาวนาน
"ชานหมาก"หลวงปู่มีชื่อเสียงเรื่องกันเขี้ยว งา และพิษของสัตว์ร้าย ชาวบ้านแถวนั้นมีอาชีพทำไร่เป็นส่วนมาก มีหลายครั้งที่เผลอเหยียบงูโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "งูมันอ้าปากบ่ขึ้น" นั่นก็คืองูเห่าแผ่แม่เบี้ยและฉกกัดชาวบ้านแต่ฉกในลักษณะที่ปากหุบอยู่นั่นเอง มีหลายคนที่นำเรื่องราวไปถามหลวงปู่ แต่กลับได้รับคำตอบวว่า "งูมันเฒ่า มันบ่มีแค่ว" หมายถึงว่างูเหล่านั้นมันแก่แล้ว ไม่มีเขี้ยวไม่มีฟัน ซึ่งจะเห็นได้ถึงความถ่อมตนของท่านนั่นเอง
ในด้านวัตถุมงคลท่านจัดสร้างไว้หลายชนิด เช่น เหรียญ, รูปหล่อ, พระสมเด็จตะกรุดสามดอก, ตะกรุดคงกระพัน, สิงห์มหาอำนาจ, ผ้ายันต์หงส์คู่ ฯลฯ วัตถุมงคลที่ท่านสร้างมีประสบการณ์แรงที่สุด ขลังที่สุดอีกสายหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี ทีประสบการณ์ด้านแคล้วคลาด คงกระพัน ที่กล่าวขานกันไว้หลายเหตุการณ์
อาทิ ปีพ.ศ 2539 ชาวลำพันบอง5คน จากจังหวัดกำแพงเพชร เดินทางมาทอดกฐินที่วัดลำพันบอง ขากลับรถเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต 1ราย เพราะไม่ได้ขึ้นไปรับวัตถุมงคลจากหลวงปู่สมบุญ เนื่องจากนั่งดื่มสุรา ส่วนญาติที่เหลือ4รายปลอดภัยเพราะขึ้นไปรับวัตถุมงคลเหรียญพระใบฎีกาหลวงปู่สมบุญ
ปี2545 ชาวบ้านหมู่ 8 บ้านลำพันบอง ถูกโจรชิงทรัพย์ แต่ต่อสู้ขัดขืน ถูกคนร้ายยิงด้วยปืนสั้นแต่ไม่เข้าเป็นเพียงรอยช้ำๆเท่านั้น เพราะคล้องเหรียญรุ่นพิเศษหลวงปู่สมบุญ
ปี 2553 ภรรยาสารวัตรกำนัน บ้านทุ่งกันเหลือง หมู่ 5 ต.ป่าสะแก อ.เดิมบางนางบวช ถูกงูจงอางกัดมีเพียงรอยช้ำๆของเขี้ยวงูจงเท่านั้น เพราะสวมแหวนหลวงพ่อสมบุญ
"พระสมเด็จรุ่นโป้งเปรี๊ยะ"มีประสบการณ์ฮือฮาอีกรุ่น ซึ่งเป็นรุ่นที่มีการปล้นรถจักรยาน ยนต์แล้วยิงผู้เสียหายซึ่งสวมใส่วัตถุมงคลเป็นพระสมเด็จรุ่นนี้ แล้วยิงไม่ออก มีแต่เพียงเสียงสับไก เปรี๊ยะๆเท่านั้น
อีกรายที่มีบันทึกไว้ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลหนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี วัยรุ่นชายอายุ 25ปีเดินเที่ยวงานปิดทองฝังลูกนิมิตวัดสามัคคีธรรม ถูกคู่กรณีใช้ปืนลูกซองยิงกลางหน้าอก มีแผลกระจายทั่ว หลังจากนั้นผู้บาดเจ็บล้มลง ผู้พบเห็น และตำรวจ สภอ. หนองหญ้าไซนำส่งโรงพยาบาล จากการตรวจร่างกายพบบาดแผลกระสุนปืนเป็นรอยจ้ำถลอก 6 รอยบริเวณใกล้ซอกรักแร้แถบซ้าย และบาดแผลกระสุนปืนเป็นรอยจ้ำถลอก 29 รอย กระจายทั่วบริเวณกลางหน้าอก ในคอพบเพียงเหรียญหลวงปู่สมบุญเท่านั้น
สำหรับศิษย์สืบทอดวิชาสายตรงของหลวงปู่สมบุญที่มีชื่อเสียงอยู่ในปัจจุบันคือ "พระมหามนพ กิตฺติมโน"เจ้าอาวาสวัดพังม่วง หมู่ 3 ต.วังน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี พระเกจิหนุ่มนักพัฒนา มีชื่อเสียงในเรื่องการเจิม"ยันต์ฝ่ามือนะเศรษฐี" โดยหลวงปู่สมบุญเมตตารับเป็นศิษย์ เมื่อมีงานนั่งปรกอธิษฐานจิตที่วัดลำพันบองครั้งใด ท่านก็จะนิมนต์พระมหามนพไปด้วย
Comments